การดูแลสุขภาพแบบองค์รวมหมายถึงการดูแลสุขภาพที่ป้องกัน รักษา บำบัดอาการเจ็บป่วยด้วยการใช้ความรู้ในทุกๆ ด้านทั้งความรู้แบบดั้งเดิมและการบำบัดเสริมที่ช่วยให้เกิดสุขภาวะที่ดี การดูแลสุขภาพแบบองค์รวม(Holistic Health) จะพิจารณาองค์ประกอบทุกอย่างทั้ง ร่างกาย จิตใจและปัญญา(จิตวิญญาณ) โดยเน้นให้ผู้เข้ารับการรักษามีส่วนร่วมในการรักษาและปฏิบัติตนให้หายจากโรคด้วยตัวเอง ไม่ได้จำกัดการบำบัดรักษาอยู่ที่วิธีการใดวิธีการหนึ่งเท่านั้นแต่ยังครอบคลุมไปถึงการวินิจฉัยโรค การรักษาบำบัดและการส่งเสริมสุขภาพด้วย
องค์ประกอบของสุขภาพองค์รวม(Holistic Health) สาเหตุของการเกิดโรคจะมีความเกี่ยวพันกันทั้งทาง ร่างกาย จิตใจและจิตวิญญาณซึ่งองค์ประกอบทั้งหมดนี้เป็นองค์ประกอบของสุขภาพองค์รวมที่เป็นปรัชญาของการมีสุขภาวะที่ดีที่นำองค์ประกอบในร่างกายทุกส่วนมาพิจารณาร่วมกันเพื่อสร้างความสมดุลระหว่างองค์ประกอบทั้งหมดเพื่อการบรรลุเป้าหมายให้มีสุขภาวะที่ดี
สุขภาพกับสุขภาวะต่างกันอย่างไร สุขภาพที่ดีต้องเป็นอย่างไร ทฤษฏีการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมได้พูดถึงความหมายของคำว่า “สุขภาพ” คือความสมบูรณ์ทั้งทางร่างกาย จิตใจและจิตวิญญาณซึ่งมีความหมายในแนวเดียวกับคำว่า “สุขภาวะ” (Well-being) ที่หมายถึงการที่สุขภาพทั้งทางร่างกาย จิตใจ สังคมและจิตวิญญาณอยู่ด้วยกันอย่างมีความสมดุล ดังนั้นสุขภาวะ 4 ด้านหรือสุขภาวะ 4 มิติจึงหมายถึงการมีสุขภาพดีจากความสมดุลขององค์รวมทั้ง 4 ด้านคือสุขภาวะทางกาย จิตใจ สังคมและจิตวิญญาณ(ปัญญา)
สุขภาวะทางร่างกาย(Physical Health) หมายถึงร่างกายที่แข็งแรง ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ ไม่พิการ ร่างกายสามารถทำงานได้ปกติอย่างมีประสิทธิภาพ สุขภาวะทางจิตใจ(Mental Health) หมายถึงภาวะที่จิตใจสบาย มีความสุข ไม่เครียด มีสติ เพราะจิตใจจะเป็นสิ่งที่คอยควบคุมให้ร่างกายปรับตัวเข้ากับสังคมและสิ่งแวดล้อมต่างๆ ได้ สุขภาวะทางสังคม(Social Health)เป็นความสุขที่เกิดจากความสัมพันธ์อันดีต่อกันของสมาชิกในสังคม ไม่ว่าจะเป็น คนในครอบครัว คนในชุมชนและคนในสังคมต่างมีความเอื้ออาทรให้ความช่วยเหลือและอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข สุขภาวะทางจิตวิญญาณ(ปัญญา)เป็นความเฉลียวฉลาด ความรู้เท่าทัน เข้าใจในเหตุและผลของความเปลี่ยนแปลงทำให้สามารถดำเนินชีวิตต่อไปอย่างมีความสุข
วิธีปรับสมดุลขององค์ประกอบสุขภาพองค์รวม การดูแลสุขภาพแบบองค์รวมจะพิจารณาองค์ประกอบทั้งหมด(กาย จิตใจ สังคม ปัญญา-จิตวิญญาณ) โดยเน้นให้ผู้เข้ารับการรักษาบำบัดมีส่วนร่วมในการรักษาด้วยเพราะว่าคนที่รู้ดีที่สุดก็คือตัวผู้เข้ารับการบำบัดนั่นเอง การขาดสมดุลในองค์ประกอบสุขภาพองค์รวมอาจปรับให้เกิดความสมดุลโดยการใช้การรักษาหลายแบบเช่น การแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน การแพทย์ทางเลือก(Alternative Medicine) ซึ่งการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมจะไม่จำกัดวิธีการรักษาอยู่กับวิธีใดวิธีหนึ่งเท่านั้น บางครั้งก็จำเป็นต้องกินยาแต่การดูแลสุขภาพแบบพื้นฐานก็เป็นวิธีปรับสมดุลขององค์ประกอบสุขภาพองค์รวมได้เช่น การกินอาหารให้ครบ 5 หมู่(เน้นธัญพืช โปรตีนจากปลา) การพักผ่อนให้เพียงพอ การออกกำลังกายเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ การผ่อนคลายความเครียด ฯลฯ ที่สำคัญต้องคอยสังเกตตัวเองว่ากำลังขาดสมดุลในเรื่องใดหากพักผ่อนน้อยก็ปรับสมดุลได้โดยการเข้านอนให้เร็วขึ้น ตามที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า ไม่มีใครรู้ความผิดปกติ(เสียสมดุล)ของคุณได้ดีกว่าตัวคุณเอง