ภาวะไขมันในเลือดสูง (Hyperlipidemia) เป็นภาวะที่มีระดับไขมันในเลือดเกินปกติ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากพฤติกรรมการกินอาหาร อาจจะมีผลกระทบต่อร่างกายได้หลายประการ ภาวะไขมันในเลือดสูงเป็นปัญหาสุขภาพอย่างหนึ่งที่เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่ถูกต้อง ไม่ใส่ใจเรื่องอาหารการกินและขาดการออกกำลังกายที่เหมาะสมซึ่งภาวะไขมันในเลือดสูงจะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ที่อันตรายตามมาได้อีกมากมายเช่น โรคเบาหวาน หัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคหลอดเลือดสมองตีบ โรคไขมันเกาะตับ ตับอ่อนอักเสบ เป็นต้น
อธิบายแบบภาษาชาวบ้านให้เข้าใจง่ายๆคือไขมันในร่างกายหรือคอเลสเตอรอลจะเกิดจากร่างกายสร้างขึ้นเองส่วนหนึ่งและอีกส่วนหนึ่งได้มาจากอาหารที่เรารับประทานในแต่ละวันโดยเฉพาะอาหารประเภทไขมันจากสัตว์ นอกจากนี้ไขมันในร่างกายยังแบ่งออกได้หลายชนิด หากพูดถึงภาพรวมของไขมันนั่นคือระดับคอเลสเตอรอลรวม(Total Cholesterol) แต่หากจะแบ่งให้ละเอียดลงไปอีกจะได้ดังนี้คือ
1. ไขมันเลวที่เรียกกันว่า LDL ที่เป็นสาเหตุทำให้หลอดเลือดตีบและอุดตัน โดยเมื่อระดับ LDL ในเลือดยิ่งสูงขึ้นก็จะเพิ่มโอกาสในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด 2. ไขมันดีที่เรียกกันว่า HDL เป็นตัวช่วยป้องกันไม่ให้ไขมันตัวร้าย (LDL, ไตรกลีเซอไรด์) เกิดการสะสมในหลอดเลือดซึ่งจะทำให้มีโอกาสเป็นโรคที่เกี่ยวกับหัวใจได้ 3. Triglycerides คือไขมันหนึ่งในประเภทของไขมันในเลือด ซึ่งเป็นไขมันที่เก็บไว้ในเซลล์ของร่างกาย และใช้เป็นแหล่งพลังงานในการทำงาน ระดับของ Triglycerides จะมีผลต่อการเกิดโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจและหลอดเลือด.
เกณฑ์มาตรฐานที่ใช้วัดระดับคอเลสเตอรอลในร่างกาย คอเลสเตอรอลรวม(Total Cholesterol-TC) ไม่ควรเกิน 200 mg/dl. ไขมันเลว(LDL-C) ไม่ควรเกิน 100 mg/dl. ไขมันไตรกลีเซอไรด์ ไม่ควร150 mg/dl. ไขมันดี(HDL-C) ไม่ควรต่ำกว่า 40 mg/dl.
ร่างกายต้องการอาหารเพื่อเอาไปสร้างเป็นพลังงานไว้ใช้ทำกิจกรรมต่างๆ พลังงานส่วนเกินจะถูกสะสมเป็นไขมันไว้ใช้สำรองในยามจำเป็นแต่หากสะสมมากเกินไปก็จะทำให้อ้วนลงพุงได้ ดังนั้นการกินอาหารต้องให้ได้สัดส่วนหรือมีความสัมพันธ์กับการใช้พลังงานในแต่ละวันโดยถือหลักว่ากินเข้าไปเท่าไหร่ให้ใช้ให้หมดหากกินเข้าไปน้อยกว่าพลังงานที่ใช้ส่วนที่เหลือจะถูกนำไปสะสมตามส่วนต่างๆ ของร่างกายและหากสะสมมากเข้าก็จะทำให้เกิดภาวะไขมันในเลือดสูง
วิธีลดไขมันโดยไม่ต้องใช้ยาทำได้ง่าย ๆ โดยการควบคุมอาหารและการออกกำลังกาย เนื่องจากไขมันเป็นสิ่งที่ร่างกายสร้างขึ้นเองด้วยและได้รับจากอาหารด้วยดังนั้นเราควรควบคุมการกินอาหารเพื่อให้ร่างกายได้รับไขมันไม่มากเกินไปและไม่น้อยเกินไป การควบคุมอาหารไม่ใช่การอดอาหารอย่างที่เข้าใจกันผิด เราควรรู้ว่าร่างกายต้องกินอาหารมื้อไหนในปริมาณเท่าไหร่และควรเน้นหนักไปที่อาหารมื้อใดเพื่อให้สอดคล้องกันการใช้พลังงานของร่างกาย
การควบคุมอาหารทำได้โดย การเน้นหรือให้ความสำคัญกับอาหารมื้อเช้าให้มากที่สุดเพราะมื้อเช้าเป็นมื้อที่สำคัญเนื่องจากร่างกายต้องการพลังงานเพื่อนำไปใช้ทำกิจกรรมต่างๆ ระหว่างวัน ส่วนมื้อเที่ยงก็กินตามปกติในปริมาณที่พออิ่มและมื้อเย็นเป็นมื้อที่ควรกินให้น้อยที่สุดเพราะหลังจากมื้อเย็นแล้วเราก็จะพักผ่อนหรือเข้านอนร่างกายไม่จำเป็นต้องใช้พลังงานอะไรมากมาย ส่วนประเภทของอาหารที่กินมื้อเช้า-เที่ยงก็กินได้ตามปกติ ส่วนมื้อเย็นพยายามหลีกเลี่ยงอาหารประเภทแป้งโดยให้เน้นกินเฉพาะผักและปลา ตัวอย่างอาหารมื้อเย็นที่ดีได้แก่ สุกี้ซึ่งประกอบด้วยวุ้นเส้น ผัก ปลา หมู ไก่ แต่ให้หลีกเลี่ยงอาหารประเภทแป้งเช่น ข้าว เส้นบะหมี่ ขนมปัง เป็นต้น
ส่วนการออกกำลังกายให้เน้นที่การออกกำลังกายที่ทำให้หัวใจได้สูบฉีดโลหิตอย่างเต็มที่และปอดได้รับออกซิเจนเข้า-ออกอย่างเต็มที่โดยการหายใจเข้า-ออกลึกๆ อย่างต่อเนื่องประมาณ 30 นาที เช่น การเดินเร็ว การวิ่ง การว่ายน้ำ การปั่นจักรยาน เป็นต้น ควรออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาทีและ 5 วัน/สัปดาห์.