ฮีทสโตรกหรือโรคลมแดด ในช่วงหน้าร้อนหลายๆ คนอาจพบเห็นคนเป็นลมแดดกันได้บ่อยๆ รู้หรือไม่ว่า อันตรายจากการเกิดโรคลมแดดหรือฮีทสโตรกนั้นอาจทำให้ถึงขั้นเสียชีวิตได้หากไม่ได้รับการปฐมพยาบาลอย่างทันท่วงที สิ่งที่จะกล่าวต่อไปคือความรู้เกี่ยวกับโรคฮีทสโตรกเกิดจากอะไร ฮีทสโตรกมีอาการอย่างไร หากพบเจอผู้ป่วยโรคฮีทสโตรกปฐมพยาบาลอย่างไรและสุดท้ายคือวิธีป้องกันโรคฮีทสโตรก
อากาศร้อนมีผลต่อร่างกายอย่างไร ระยะหลังๆ มานี่ในช่วงหน้าร้อนอุณหภูมิมักจะสูงโดย
เฉลี่ยประมาณ 40 องศาเซลเซียสขึ้นไป สภาพแวดล้อมที่มีแสงแดดจ้าและร้อนอบอ้าวจะเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคลมแดดหรือฮีทสโตรกได้ โดยเฉพาะกับกลุ่มคนที่ต้องทำงานหรือ
ใช้แรงงานกลางแจ้งเป็นเวลานานๆ จะทำให้ร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้นโดยปกติแล้วร่างกายจะมีการปรับตัวเพื่อลดอุณหภูมิลงได้เองแต่ถ้าเราเอาตัวเองไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ร้อนอบอ้าวนานเกินไปร่างกายก็ปรับตัวไม่ไหวทำให้อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นและหากสูงเกิน 40 องศาเซลเซียสจะส่งผลกระทบต่อระบบการทำงานของอวัยวะต่างๆ เช่น กล้ามเนื้อ สมอง หัวใจ ปอด ไต ฯลฯ ทำให้ทำงานผิดปกติหรืออาจถึงขึ้นล้มเหลวหากไม่ได้รับการปฐมพยาบาลอย่างทันท่วงทีอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายถึงแก่ชีวิตได้
สาเหตุของการเกิดฮีทสโตรกคือ อยู่ในที่ร้อน–อบอ้าว อากาศไม่ถ่ายเททำให้เกิดความร้อนสะสมทำให้อุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้นจนร่างกายไม่สามารถปรับตัวได้ทัน ฮีทสโตรกไม่จำเป็นต้องเกิดกับคนที่อยู่กลางแจ้งเท่านั้น คนที่อยู่ในบ้านก็เกิดได้ถ้าในบ้านเป็นพื้นที่อับ ร้อน–อบอ้าว อากาศไม่ถ่ายเททำให้เกิดความร้อนสะสมทำให้เกิดอาการฮีทสโตรกคือ ตัวร้อน กระหายน้ำ วิงเวียน มึนงง หน้ามืดเหมือนจะเป็นลม หายใจถี่ขึ้น หัวใจเต้นเร็ว จนเกิดอาการชักเกร็งจนถึงขั้นหมดสติได้
กลุ่มเสี่ยงที่อาจเกิดฮีทสโตรกได้แก่ คนที่ทำงานหรือใช้กำลังอยู่กลางแจ้งเป็นเวลานานๆ เช่น คนงานก่อสร้าง นักกีฬา(มาราธอน) อีกกลุ่มเสี่ยงคือ เด็ก ผู้สูงอายุและคนที่มีโรคประจำตัวซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดฮีทสโตรกได้มากกว่ากลุ่มคนปกติ
ฮีทสโตรกปฐมพยาบาลอย่างไร เมื่อพบเห็นคนเป็นโรคลมแดดหรือฮีทสโตรกให้สังเกตว่าอาการอยู่ในระดับใด มีการหายใจที่ผิดปกติหรือไม่ถ้าเป็นเช่นนั้นต้องทำ CPR โดยด่วน แต่ถ้าผู้ป่วยยังรู้สึกตัวสิ่งที่ต้องรีบทำคือให้หาทางระบายความร้อนออกจากตัวผู้ป่วยให้เร็วที่สุดโดยการพาผู้ป่วยเข้าในที่ร่ม อากาศถ่ายเทได้สะดวก ผ่อนคลายเสื้อผ้าให้หลวมๆ เปิดพัดลมช่วยระบายความร้อน ให้ผู้ป่วยดื่มน้ำเพื่อลดความร้อนในร่างกาย ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวให้ผู้ป่วยและประคบผ้าเย็นตามจุดต่างๆ ของร่างกายเช่น หน้าผาก ซอกคอ รักแร้ ขาหนีบ ฯลฯ เพื่อลดอุณหภูมิของร่างกาย
วิธีป้องกันโรคฮีทสโตรกหรือโรคลมแดด หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้งหรือถูกแดดเป็นเวลานานๆ หากจำเป็นต้องออกแดดนานๆ ต้องมีอุปกรณ์ป้องกันแดดเช่น ร่ม แว่นกันแดด หมวกปีกกว้าง เป็นต้น หลีกเลี่ยงการอยุ่ในที่ร้อน–อบอ้าว สถานที่อับ อากาศไม่ถ่ายเทที่อาจทำให้เกิดความร้อนสะสม ควรพกน้ำดื่มติดตัวและจิบน้ำบ่อยๆ อย่าปล่อยให้ร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำ สำหรับกลุ่มเสี่ยง(เด็ก ผู้สูงอายุและคนที่มีโรคประจำตัว) ไม่ควรอยู่ตามลำพังในที่ๆมีอากาศร้อน–อบอ้าว ควรมีคนดูแลอยู่ด้วย