หลักการสร้างเสริมสุขภาพ ความหมายของการสร้างเสริมสุขภาพหรือการส่งเสริมสุขภาพหมายถึง การกระตุ้นให้บุคคลมีการปรับเปลี่ยนลักษณะการดำรงชีวิตและจัดการสิ่งแวดล้อมทั้งทางด้านสังคมเศรษฐกิจเพื่อทำให้เกิดสภาวะสุขภาพที่สมบูรณ์ ซึ่งแนวความคิดการสร้างเสริมสุขภาพแบบดั้งเดิมจะเน้นที่การ “ซ่อมสุขภาพ” คือการรักษาโรคที่เกิดขึ้นแล้วแต่การสร้างเสริมสุขภาพแนวใหม่จะเน้นที่การ “สร้างสุขภาพ” คือเน้นที่การป้องกันไม่ให้เกิดโรคเป็นหลัก
ความสำคัญของการสร้างเสริมสุขภาพ จะเห็นว่าการลงทุนในด้านการบริการรักษาโรคจะต้องมีค่าใช้จ่ายยิ่งเป็นโรคที่อันตรายเช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง ฯลฯ จะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาที่สูงแต่หากเราทำการส่งเสริมสุขภาพโดยเน้นการให้ความรู้แก่คนในชุมชนและทำให้มีการปรับเปลี่ยนลักษณะการดำรงชีวิตทำให้คนในชุมชนมีการปรับพฤติกรรมสุขภาพและทำให้สิ่งแวดล้อมที่อยู่ภายในชุมชนนั้นเอื้อประโยชน์ต่อการเกิดสภาวะสุขภาพที่ดีก็จะเป็นเหมือนการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุคือป้องกันไม่ให้เกิดโรคซึ่งจะใช้เวลาและค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุโดยการให้บริการรักษาโรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นแล้ว
แนวคิดการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค การที่คนเราจะมีสุขภาพดีหรือไม่ดีนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัย 4 อย่างคือ 1. ปัจจัยด้านกรรมพันธุ์ 2. ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม 3. ปัจจัยด้านลักษณะการดำรงชีวิต 4. ระบบบริการของรัฐ สำหรับปัจจัยด้านกรรมพันธุ์แม้ว่าการส่งเสริมสุขภาพไม่อาจเปลี่ยนแปลงเรื่องพันธุกรรมของบุคคลได้แต่การส่งเสริมสุขภาพก็สามารถทำให้บุคคลมีการเตรียมพร้อมให้อยู่ในภาวะและสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุดได้ ส่วนปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมและลักษณะการดำรงชีวิตนั้นการส่งเสริมสุขภาพจะช่วยจัดการสิ่งแวดล้อมและปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้ส่งผลดีต่อสุขภาพได้ แต่อย่างไรก็ตามปัจจัยสำคัญอีกอย่างที่ทำให้การสร้างเสริมสุขภาพประสบความสำเร็จคือนโยบายสาธารณสุขและระบบบริการของรัฐ หากสถานบริการทางการแพทย์สามารถขยายตัวให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายจะส่งผลทำให้สุขภาพของประชาชนดีขึ้นได้
แนวคิดการสร้างเสริมสุขภาพนั้นถือว่าการสร้างเสริมสุขภาพไม่ใช่เป็นหน้าที่ของสถานพยาบาลหรือกลุ่มบุคคลากรด้านสาธารณสุขเท่านั้นแต่เป็นความรับผิดชอบร่วมกันของคนในสังคมโดยแนวคิดการสร้างเสริมสุขภาพได้เปลี่ยนจากมิติที่เกี่ยวกับการมุ่งรักษาโรคไปเป็นมิติของ “สุขภาวะ” ที่มีมุมมองที่กว้างขึ้น ดังนั้นการสร้างเสริมสุขภาพจึงเปลี่ยนมาเป็นความรับผิดชอบของคนทุกคนในสังคม
ปัจจัยที่มีผลต่อการสร้างเสริมสุขภาพคือ 1. ปัจจัยด้านบุคคล 2. ปัจจัยด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม แนวทางการสร้างเสริมสุขภาพจะเริ่มจากการให้ความรู้แก่คนในชุมชนทั้งในเรื่องการดูแลสุขภาพ จัดกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพและให้คนในชุมชนได้ทราบถึงประโยชน์ของการสร้างเสริมสุขภาพเพื่อให้เกิดความตระหนักมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการปรับพฤติกรรมความเป็นอยู่เพื่อให้เกิดสภาวะสุขภาพที่ดี แต่ก็ต้องอาศัยปัจจัยด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วยโดยการพยายามปรับสิ่งแวดล้อมให้เอื้ออำนวยต่อการเกิดสภาวะสุขภาพที่ดีเพื่อให้การสร้างเสริมสุขภาพเกิดผลสำเร็จในทางปฏิบัติ
การสร้างเสริมสุขภาพที่ดีจะเน้นที่การป้องกันคือการสร้างสุขภาพที่ดีโดยตัวบุคคลเอง ชุมชนจะคอยช่วยในการจัดการสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการมีสุขภาพดีเช่นมีการสร้างบรรยากาศโดยจัดกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพแนะนำให้คนในชุมชนได้รู้จักและประโยชน์ของการสร้างเสริมสุขภาพ ส่วนหน่วยงานของรัฐก็มีนโยบายเกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาพที่ชัดเจนและสามารถทำได้จริงเพื่อทำให้ทุก ๆ คนในสังคมมีสุขภาพที่สมบูรณ์และมีคุณภาพชีวิตที่ดี.
การดูแลสุขภาพเบื้องต้นมีอะไรบ้าง การดูแลสุขภาพเบื้องต้นจะทำให้มีผลดีในระยะยาวต่อสุขภาพ ซึ่งสามารถทำได้ง่ายๆ ในเรื่องต่างๆ เหล่านี้
โภชนาการที่เหมาะสม กินอาหารที่หลากหลายและสมดุล เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืช โปรตีนจากเนื้อสัตว์ ไข่ และถั่ว ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันทรานส์ น้ำตาลสูง และเกลือมากเกินไป ให้ดูแลการดื่มน้ำอย่างเพียงพอ (ประมาณ 8 แก้วต่อวัน) ในด้านการออกกำลังกาย ควรออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน เช่น เดิน วิ่ง ว่ายน้ำ หรือปั่นจักรยาน ควรทำกิจกรรมที่ช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้ออย่างเช่น การยกน้ำหนัก หรือโยคะเป็นต้น สิ่งที่จำเป็นอีกอย่างคือการนอนหลับที่เพียงพอ ควรนอนหลับอย่างน้อย 7-8 ชั่วโมงต่อคืนและจัดตารางการนอนให้เป็นเวลาเดียวกันทุกวันอย่างสม่ำเสมอ
วิะีการจัดการความเครียด หากมีความเครียดจากการทำงานประจำวันควรฝึกเทคนิคการผ่อนคลาย เช่น การฝึกสมาธิ การทำโยคะ หรือการฝึกหายใจลึกๆ พูดคุยและแลกเปลี่ยนความรู้สึกกับเพื่อนหรือบุคคลในครอบครัว
การรักษาสุขอนามัย หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ โดยเฉพาะก่อนรับประทานอาหารและหลังใช้ห้องน้ำให้รักษาความสะอาดของฟันโดยการแปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง และใช้ไหมขัดฟัน
สำหรับสิ่งที่ควรทำเป็นประจำทุกปีคือ การตรวจสุขภาพประจำปี ตรวจสุขภาพประจำปีเพื่อตรวจหาความผิดปกติและรับคำแนะนำจากแพทย์เพื่อหาทางป้องกันและรักษาแต่เนิ่นๆ หากจำเป็นต้องรับวัคซีนให้รับวัคซีนตามกำหนดและตรวจสอบประวัติการฉีดวัคซีน ให้หลีกเลี่ยงสารที่เป็นอันตราย โดยงดสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารเคมีที่เป็นอันตรายและป้องกันตนเองด้วยการใช้เครื่องป้องกันตามความเหมาะสม การปฏิบัติตามคำแนะนำเบื้องต้นเหล่านี้จะช่วยให้คุณมีสุขภาพที่ดีขึ้นและลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ ในอนาคต