อาการโรคเครียดเรื้อรัง ก่อนอื่นมารู้จักกันก่อนว่าความเครียดแบบไหนที่จัดว่าเป็นความเครียดเรื้อรัง ลักษณะที่จัดว่าเป็นความเครียดเรื้อรังคือเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นประจำกับตัวผู้ป่วยโดยที่ร่างกายของผู้ป่วยไม่สามารถตอบสนองหรือแก้ปัญหากับสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นได้จนทำให้เกิดเป็นความเครียดและเนื่องจากเป็นสิ่งที่ผู้ป่วยต้องพบต้องเจออยู่เป็นประจำเหมือนถูกบังคับจะหลบหนีไปให้พ้นก็ไม่ได้ทำให้ความเครียดที่เกิดจากการที่ร่างกายไม่สามารถตอบสนองจากสิ่งเหล่านั้นได้จนกลายเป็นความเครียดสะสมหรือความเครียดเรื้อรังนั่นเอง
ความเครียดเรื้อรังทำให้เกิดอาการต่างๆ เหมือนกับความเครียดทั่วไปเพียงแต่อาการโรคเครียดเรื้อรังจะหนักหนาสาหัสมากกว่าเนื่องจากผู้ป่วยไม่สามารถปฏิเสธความเครียดนั้นๆ ได้ ตัวอย่างของความเครียดเรื้อรังได้แก่ ความเครียดที่เกิดจากการปัญหาในที่ทำงานเช่น มีหัวหน้าที่จุกจิกหรือขี้บ่นแบบไร้เหตุผล ทำให้ลูกน้องที่ทำงานด้วยเกิดความเครียดขึ้นมา ครั้นจะแก้ปัญหาด้วยการหลบหน้าให้พ้นจากหัวหน้าขี้บ่นก็ทำไม่ได้เพราะยังต้องการเงินเดือนจากการทำงานมาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องและครอบครัว ทำให้ต้องตกอยู่ในภาวะถูกบังคับให้ต้องทนอยู่กับความเครียดไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นความเครียดเรื้อรัง
อาการโรคเครียดเรื้อรัง ก็จะเหมือนอาการเครียดโดยทั่วไปนั่นคือ จะมีอาการที่แสดงออกทั้งทางร่างกายและจิตใจ ตลอดจนพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป อาการเครียดเรื้อรังเช่น ปวดท้ายทอย ปวดหัวข้างเดียว ปวดกระบอกตา ปวดร้าวจากต้นคอลามไปยังไหล่และสะบักทั้งสองข้าง ปวดหลัง มือเท้าเย็น นอนกรนหรือนอนกัดฟัน ระบบย่อยอาหารแปรปรวน ปวดท้องหรือที่เรียกว่า “เครียดลงกระเพาะ” อาเจียน ท้องอืด ท้องผูก ภูมิต้านทานโรคต่ำ นอนไม่ค่อยหลับทำให้ร่างกายพักผ่อนไม่เพียงพอจึงส่งผลต่อสภาพร่างกายและจิตใจทำให้อ่อนเพลียและหงุดหงิดง่าย รู้สึกวิตกกังวลอยู่เรื่อยๆ ย้ำคิดย้ำทำ ฯลฯ
อาการความเครียดเรื้อรังแตกต่างจากโรคเครียดปกติคือ อาการที่เกิดความเครียดจะถูกสะสมต่อเนื่องมานานเนื่องจากผู้ป่วยไม่สามารถหลีกเลี่ยงจากปัจจัยที่ทำให้เกิดความเครียดเรื้อรังได้ วิธีแก้ปัญหาอาการโรคเครียดเรื้อรังต้องใช้ความพยายามมากกว่าปกติเพราะผู้ป่วยต้องอาศัยความพยายามในการทำใจยอมรับและปรับตัวเพื่อให้สามารถอยู่กับความเครียดนั้นๆ ได้ อาจหาทางผ่อนคลายความเครียดด้วยวิธีต่างๆ เช่น การนวดเพื่อผ่อนคลาย การทำกิจกรรมที่ชอบ การนั่งสมาธิ สวดมนต์ การพูดคุยกับคนที่สามารถรับฟังปัญหาได้ บางทีอาจต้องอาศัยการกินยาคลายเครียดหรือยานอนหลับเพื่อช่วยให้ร่างกายได้พักผ่อนอย่างเต็มที่