การเตรียมตัวรับมือน้ำท่วม ต้องเริ่มจากเตรียมตัวก่อนน้ำท่วมเพราะน้ำท่วมเกิดจากการที่มีปริมาณน้ำมากเกินกว่าที่จะจัดการได้ ปริมาณน้ำที่มากอาจมาจากมีพายุทำให้เกิดฝนตกหนัก น้ำที่ไหลลงสู่แม่น้ำลำคลองต่างๆ ก็จะทยอยไหลลงสู่แม่น้ำสายหลัก การจัดการน้ำต้องทำการระบายน้ำลงสู่แม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาอาจระบายน้ำไม่ทันทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันได้ การเตรียมตัวรับมือน้ำท่วมโดยคร่าวๆ คือคนที่อยู่ในพื้นที่
เสี่ยงภัยควรติดตามข่าวสารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและให้เตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการรับมือกับเหตุการณ์น้ำท่วมที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกขณะ ก่อนอื่นให้จัดเก็บเอกสารสำคัญใส่ซองกันน้ำและเก็บขึ้นที่สูง ยกข้าวของเครื่องใช้ให้พ้นจากระดับที่คาดว่าน้ำจะท่วมถึง เตรียมถุงทรายเพื่อวางเป็นแนวปิดกั้นไม่ให้น้ำท่วมเข้ามาในบ้าน เตรียมอาหารแห้ง น้ำดื่ม ยารักษาโรคให้พร้อมและศึกษาเส้นทางสู่ศูนย์อพยพในกรณีที่จำเป็นต้องย้ายออกจากบ้านไปยังศูนย์อพยพ ชาร์จแบตฯมือถือให้พร้อมและเตรียมเบอร์โทรสายด่วนไม่ว่าจะเป็นเบอร์ 1669 (บริการแพทย์ฉุกเฉิน) 1784(ปภ,รับแจ้งเหตุ)
น้ำท่วมต้องเตรียมอะไรบ้าง การเตรียมตัวก่อนน้ำท่วมจะมาถึงควรจัดเตรียมบ้านให้พร้อมกับการรับมือน้ำท่วมโดยสำรวจรอบบ้าน เส้นทางไปสู่ศูนย์อพยพ หน่วยงานต่างๆ ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยน้ำท่วม จากนั้นมาสำรวจภายในบ้านว่าจะป้องกันน้ำไม่ให้เข้ามาภายในบ้านได้อย่างไร โดยปิดช่องที่คาดว่าน้ำอาจจะทะลักเข้ามาได้เช่น ขอบประตู หน้าต่าง รอยต่ออิฐ ร้อยร้าวผนัง ท่อระบายน้ำทิ้ง ฯลฯ หาทางอุดช่องเหล่านี้โดยใช้ กระสอบทราย หรือใช้วิธียิงซิลิโคน เป็นต้น เฝ้าระวังช่องว่างเหนือน้ำให้ดีเพราะอาจมีสัตว์มีพิษเข้ามาทางช่องว่างเหล่านั้น สำหรับทรัพย์สินขนาดเล็กที่เคลื่อนย้ายได้ให้ขนย้ายขึ้นไปเก็บไว้ที่สูง(ชั้น 2) เพื่อป้องกันความเสียหายหากน้ำทะลักเข้ามาในบ้าน เอกสารสำคัญจัดเก็บใส่วัสดุที่กันน้ำได้ ส่วนทรัพยสินขนาดใหญ่ที่ไม่สะดวกในการเคลื่อนย้ายเช่น ตู้เย็น เครื่องซักผ้า ฯลฯ ให้หาทางป้องกันที่เหมาะสมเช่น อาจหาถุงขนาดใหญ่มาหุ้มห่อหรือใช้อิฐหนุนให้สูงพ้นระดับน้ำ ระบบไฟฟ้าภายในบ้านหากมีระบบไฟฟ้าแยกกันระหว่างชั้น 1 กับ ชั้น 2 ก็ให้ปิดเบรกเกอร์ชั้น 1 ก่อนเพื่อป้องกันอันตรายจากไฟฟ้า ส่วนทรัพย์สินขนาดใหญ่เช่น รถยนต์ รถมอเตอร์ไซด์ ฯลฯ ให้ย้ายไปจอดหรือฝากไว้กับคนที่อยู่ในพื้นที่สูงถ้าไม่สะดวกก็อาจหาวัสดุห่อหุ้มรถส่วนล่างให้น้ำเข้าไม่ได้
การเตรียมตัวก่อนน้ำท่วม การจัดชุดยังชีพสำหรับอยู่ในช่วงน้ำท่วม ให้นับจำนวนสมาชิกในบ้านว่ามีจำนวนกี่คนเพื่อจะได้เตรียมข้าวของให้เพียงพอ จัดเตรียมสิ่งต่อไปนี่ให้เพียงพอกับจำนวนคนคือ น้ำดื่ม ภาชนะใส่น้ำดื่ม อาหารสำเร็จรูปควรเป็นอาหารที่กินได้โดยไม่ต้องใช้ไฟฟ้าช่วยปรุง(เผื่อไฟฟ้าโดนตัด) อาหารกระป๋องและที่เปิด หากมี
เตาแก๊สพกพาก็ให้เตรียมไว้ด้วยจะเป็นการดีมาก ถุงพลาสติกและถุงดำให้เตรียมไว้ใส่ขยะและสิ่งปฏิกูล ควรเตรียมพร้อมในเรื่องการชับถ่ายโดยศึกษาวิธีทำส้วมฉุกเฉินไว้ด้วย จากนั้นให้เตรียมอุปกรณ์ให้ความสว่างหากไม่มีไฟฟ้าใช้เช่น เทียนไข ไม่ขีดไฟ ไฟฉาย+ถ่านไฟฉาย ฯลฯ การเตรียมยาให้เตรียมทั้งยาทั่วไป ยาสำหรับโรคประตัวและยาสำหรับป้องกันแมลงสัตว์กัดต่อยเช่น ยาหม่อง แซมบัค ยากันยุง ฯลฯ เนื่องจากช่วงน้ำท่วมจะมียุงมากกว่าปกติ
เมื่อน้ำท่วมมาถึงบ้านแล้ว การตัดสินใจจะอพยพหรือไม่ จำเป็นต้องดูสถานการณ์หลายอย่างประกอบกันเช่น ระดับน้ำสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและน้ำทะลักเข้ามาในบ้านหรือไม่ สุขภาพของคนในบ้านโดยเฉพาะเด็ก คนแก่ จะอยู่ในสภานการณ์แบบนั้นได้หรือไม่และสุดท้ายความพร้อมที่เตรียมไว้(ถุงยังชีพและข้าวของจำเป็น) เพียงพอหรือไม่
อยู่กับน้ำท่วมอย่างไรให้ปลอดภัย ถ้าตัดสินใจจะอยู่ต่อในบ้านให้ระวังเรื่องไฟฟ้าเป็นอันดับแรก ให้ตัดไฟฟ้าในบ้านชั้นล่างหากตัวเปียกน้ำให้ใช้ความระวังเรื่องการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าให้มาก หากมีการอุ่นอาหารด้วยแก๊สให้เพิ่มความระมัดระวังในการใช้แก๊ส หมั่นปัดกวาดทางเดินในบ้านเพราะอาจมีเศษวัสดุตกหล่นตามพื้นบ้าน ให้เตรียมเรื่องน้ำดื่มไว้เป็นเรื่องสำคัญลำดับต้นๆ หากประปา-ไฟฟ้ายังใช้งานได้ปกติให้หาภาชนะเก็บน้ำไว้ใช้แต่ถ้าจะเก็บน้ำไว้ดื่มในช่วงน้ำท่วมน้ำประปาจะมีโอกาสปนเปื้อนสูงจึงจำเป็นต้องต้มให้สะอาดเพื่อความปลอดภัย เมื่อมีการทำอาหารในบ้านให้จัดวางเตาแก๊สไว้ในที่โล่งเพื่อเลี่ยงปัญหากลิ่นควัน สำหรับขยะและสิ่งปฏิกูลอย่าทิ้งลงน้ำโดยตรงให้ใส่ถุงพลาสติกมัดปากให้มิดชิดแล้วแยกเก็บเพื่อรอกำจัดภายหลังเมื่อน้ำลดแล้ว ในช่วงเกิดภาวะน้ำท่วมสิ่งที่ควรระวังให้มากคือเรื่องอาหารและน้ำดื่มต้องสะอาดปลอดภัยและดูแลคนในบ้านเรื่องความปลอดภัยในภาวะน้ำท่วม ไม่ว่าใครก็รักบ้านไม่อยากทิ้งบ้านไปแต่ยังไงถ้าไม่ไหวจริงๆ ก็ให้อพยพออกไปอยู่ที่ศูนย์อพยพที่มีความพร้อมมากกว่า