ปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุหรือคนชราคือคนที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ปัญหาสุขภาพของผู้สูงอายุต้องการความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องในการดูแลผู้สูงอายุ เนื่องจากปัญหาสุขภาพในผู้สูงอายุนั้นจะแตกต่างจากวัยเด็กหรือวัยหนุ่มสาว ทั้งในแง่การแสดงอาการของโรค ความรุนแรงของโรค ความแตกต่างในด้านร่างกาย อีกทั้งภาวะแทรกซ้อนจะเกิดได้ง่ายกว่าคนในวัยอื่นๆ เนื่องจากร่างกายที่เสื่อมถอยในทุกๆ ด้านไม่ว่าจะเป็นเรี่ยวแรง ความจำ ภูมิต้านทานโรค ฯลฯ ทำให้ผู้สูงวัยเกิดการเจ็บป่วยได้ง่าย เมื่อเกิดการป่วยแล้วการดูแลรักษาตลอดจนกว่าจะพักฟื้นร่างกายให้กลับมาเป็นปกติต้องใช้เวลานานกว่าคนในวัยอื่นๆ
โรคที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ ปัญหาสุขภาพของผู้สูงอายุมักจะแสดงออกมาเป็นอาการในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งทางด้านร่างกายและประสาทสัมผัสเช่น ปัญหาทางด้านการมองเห็นและการได้ยิน นอกจากอาการที่เกิดขึ้นเนื่องจากอายุที่มากขึ้นแล้วถ้าผู้สูงอายุมีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไต ฯลฯ โรคประจำตัวเหล่านี้ก็อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดปัญหาทางด้านสายตา ความสามารถในการรับฟังเสียงก็เริ่มแย่ลงเพราะมีอาการหูตึงทำให้พูดจาสื่อสารกับคนอื่นไม่ค่อยรู้เรื่องนานไปก็จะทำให้การพูดคุยกับผู้คนลดน้อยลง
ปัญหาหรือโรคในคนชราที่พบได้บ่อยอีกอย่างคือ ปัญหาในการทรงตัวและเคลื่อนไหวของผู้สูงอายุ กล้ามเนื้อที่ลีบและอ่อนแรงลง ข้อเสื่อม ภาวะกระดูกพรุนจะทำให้มีเนื้อกระดูกที่บางลง กระดูกจะเปราะและหักง่าย ทำให้ผู้สูงอายุจะเดินไปไหนมาไหนไม่สะดวกโดยเฉพาะโรคข้อเสื่อมจะทำให้เกิดความเจ็บปวดทรมานกับผู้สูงอายเป็นอย่างมากอาจเกิดอุบัติเหตุ(หกล้ม) ทำให้เกิดการกระทบกระเทือนส่วนอื่นๆ ของร่างกายเพิ่มขึ้นได้
ปัญหาของผู้สูงอายุที่เกี่ยวกับอาการสับสนหรือสูญเสียความจำ ซึ่งอาจเป็นอาการหลงลืมหรือคิดช้าลงที่เป็นไปตามวัยอาการเช่นนี้สามารถที่จะแก้ไขได้โดยการฝึกให้ผู้สูงอายุมีสมาธิมากขึ้นหรือใช้วิธีจดบันทึก แต่ถ้าเป็นภาวะสมองเสื่อม(Dementia) ซึ่งไม่ใช่อาการปกติที่เกิดขึ้นตามวัยที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านพฤติกรรม อารมณ์ การเข้าสังคมทำให้ผู้สูงอายุพูดน้อยลง ไม่อยากเข้าสังคมและมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ไม่ดี
ปัญหาการนอนไม่หลับของผู้สูงอายุ การนอนน้อยลงและคุณภาพการนอนที่แย่ เริ่มจากการนอนหลับยาก หลับไม่ลึก รู้สึกตัวตื่นขึ้นกลางดึกบ่อยๆ ตื่นขึ้นมาปัสสาวะตอนกลางคืนบ่อยๆ ซึ่งอาจเกิดจากปัญหาด้านสุขภาพที่มีอยู่แล้วส่งผลกระทบเช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไต ปวดเมื่อยตามข้อและตามร่างกาย ผลข้างเคียงจากการใช้ยาก็อาจทำให้ผู้สูงอายุมีอาการนอนไม่หลับและมีอาการมึนงง วิงเวียนศีรษะได้เช่นกัน
ปัญหาการกินอาหารและระบบขับถ่ายของผู้สูงอายุ การกลั้นปัสสาวะ-อุจจาระไม่อยู่ของผู้สูงอายุอาจเกิดจากกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานหย่อน ระบบประสาทที่ควบคุมการกลั้นการขับถ่ายบกพร่อง ผลจากยาบางชนิด ฯลฯ ผู้สูงอายุมักจะเบื่อไม่กินอาหารตามปกติอาจเป็นเพราะภาวะซึมเศร้า โรคเรื้อรังที่เป็นอยู่ ปัญหาสุขภาพฟันทำให้เคี้ยวอาหารลำบาก น้ำหนักลดและได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ การแก้ปัญหาสุขภาพของผู้สูงอายุควรเน้นที่การป้องกันหรือชะลอความเสื่อมที่จะเกิดขึ้นกับระบบต่างๆ ของร่างกายก่อนที่ทำให้ร่างกายเสียสมดุลไป หากร่างกายของผู้สูงอายุเกิดปัญหาขึ้นมากับระบบใดระบบหนึ่งทำให้ร่างกายเสียสมดุลจะส่งผลกระทบต่อระบบอื่นไปด้วยเช่นกัน