โรค Office syndrome มักเกิดขึ้นกับคนที่ทำงานในสำนักงานที่ต้องนั่งทำงานกับโต๊ะอยู่ตลอดเวลาโดยไม่ค่อยได้เคลื่อนไหวร่างกายมากนัก อาการเจ็บป่วยของโรค Office syndrome นี้จะเกิดจากการทำงานของอวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกายไม่ว่าจะเป็นกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ตา คอ ไหล่ บ่า หลัง สะโพกและขา ฯลฯ ที่มักจะอยู่ในอิริยาบถเดิมเป็นเวลานานหรือนั่งทำงาน(เคลื่อนไหว)อยู่ในท่าเดิมซ้ำๆ กันเป็นเวลานาน ทำให้อวัยวะส่วนนั้นๆ เกิดความผิดปกติและได้รับบาดเจ็บทำให้มีอาการปวดเมื่อย เจ็บและรู้สึกทรมานเป็นอย่างมาก
อาการของโรค Office syndrome นั้นอาจมีลักษณะดังนี้เช่น การกดทับของเส้นประสาทบริเวณข้อมือและนิ้วมือ การกดรัดเส้นประสาทและหลอดเลือดบริเวณทางออกทรวงอก โรคนิ้วล็อค อาการปวดหลังส่วนล่าง อาการปวดของกล้ามเนื้อและพังผืด เป็นต้น กลุ่มอาการที่พบได้บ่อยได้แก่อาการปวดบริเวณ คอ บ่า ข้อมือ หลัง ไหล่และแขน อาจเกิดการอักเสบบริเวณเส้นเอ็นและเกิดภาวะพังผืดหนาทำให้ชาตามนิ้วและข้อมือ บางคนที่มีพฤติกรรมนั่งหลังงอและอยู่ในอิริยาบถที่ผิดเป็นประจำอาจลุกลามถึงขั้นเป็นหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาทได้
สาเหตุของโรคนี้อาจเกิดจากหลายปัจจัยด้วยกันทั้ง ปัจจัยเกื้อหนุนให้เกิดอาการ ปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการและปัจจัยทำให้อาการไม่หายและคงอยู่ตลอด สาเหตุของโรคออฟฟิศซินโดรม สภาพแวดล้อมในที่ทำงานไม่เหมาะสมเช่น ระดับความสูงของโต๊ะ–เก้าอี้และอุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆในออฟฟิศถูกจัดวางไว้ไม่พอดีทำให้ร่างกายต้องเคลื่อนไหวหรืออยู่ในลักษณะที่ผิดไปจากปกติทำให้ร่างกายเกิดความเมื่อยล้าได้ง่ายเมื่อต้องทนทำงานอยู่ในสภาพที่ไม่เหมาะสมเป็นเวลานานก็จะทำให้เกิดความผิดปกติกับร่างกายสะท้อนออกมาในลักษณะที่เป็นอาการของโรคออฟฟิศซินโดรม พฤติกรรมการทำงานที่รีบเร่งทำให้ร่างกายต้องแบกรับความตึงเครียดเกิดความอ่อนล้า เพลียไม่กระปรี้กระเปร่าและอาจนำพาไปสู่โรคต่าง ๆ
โรค Office syndrome เมื่อเกิดขึ้นแล้วควรรีบหาทางรักษา การกินยาแก้อักเสบและยาแก้ปวดเป็นการรักษาเฉพาะหน้าเท่านั้น โรค Office syndrome นี้มีสาเหตุมาจากพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในการทำงานดังนั้นควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการทำงานและปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมในการทำงานให้ถูกต้องเช่น หยุดพักจากการทำงานเป็นระยะเพื่อให้กล้ามเนื้อของร่างกายได้ผ่อนคลายบ้าง หากนั่งทำงานเป็นเวลานานควรหาเวลาลุกขึ้นเพื่อเปลี่ยนอิริยาบถบ้างเพื่อให้ร่างกายได้เคลื่อนไหวไม่อยู่ในท่าเดิมซ้ำๆ เป็นเวลานานๆ ทำให้เกิดการไหลเวียนของเลือดได้ดีขึ้น ควรพักสายตาเมื่อต้องทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ บ้างด้วยการคลึง-นวดบริเวณรอบๆ ดวงตาและมองออกไปนอกหน้าต่างไกลๆ เพื่อให้สายตาได้เกิดการผ่อนคลายบ้างสัก 5-10 นาทีแล้วค่อยกลับมาทำงานต่อ นอกจากนี้ควรปรับระดับความสูงของโต๊ะกับเก้าอี้ให้อยู่ในระดับที่นั่งได้พอดีโดยเฉพาะโต๊ะวางคอมพิวเตอร์ที่หน้าจอจะต้องวางอยู่ในระดับสายตา แป้นพิมพ์จะต้องอยู่ในระดับที่วางมือได้อย่างสบาย ความสว่างของหน้าจอคอมพิวเตอร์ต้องรู้สึกสบายตา เป็นต้น
Office Syndrome Exercise เป็นการออกกำลังกายเพื่อป้องกันและบรรเทาอาการโรค Office syndrome ที่สามารถทำได้ที่โต๊ะทำงานในออฟฟิศด้วยท่าบริหารร่างกายแบบง่ายๆ และใช้เวลาไม่นาน จุดประสงค์เพื่อทำให้อวัยวะส่วนต่างๆของร่างกายเช่น กล้ามเนื้อบริเวณ คอ บ่า ไหล่ หลัง แขน ฯลฯ ได้เคลื่อนไหวและเกิดการผ่อนคลายได้ยืดเส้นยืดสายช่วยผ่อนคลายความเมื่อยล้าได้ สำหรับคนที่ต้องนั่งทำงานในออฟฟิศทั้งวันควรฝึกให้เป็นและทำ Office syndrome exercise บ่อยๆ เพื่อให้ห่างไกลจากโรค Office syndrome.