Diabetes คืออะไร

Diabetes คือโรคอะไร Diabetes คือคำภาษาอังกฤษที่ใช้เรียกโรคเบาหวาน คำเต็มของโรคเบาหวานภาษาอังกฤษคือ Diabetes Mellitus หรือโรคดีเอ็ม (DM คือเบาหวานนั่นเอง) โรคเบาหวานเป็นโรคที่รักษาไม่หาย ผู้ป่วยคนที่เป็นโรคเบาหวานโรคเบาหวานไม่ว่าจะเป็น เบาหวาน Type 1, เบาหวาน Type 2 ฯลฯ ก็จะต้องอยู่กับโรคนี้ตลอดชีวิตและจะต้องพยายามดูแลสุขภาพไม่ว่าจะเป็นการควบคุมอาหาร การใช้ยาลดระดับน้ำตาลในเลือดซึ่งมีทั้งยาชนิดที่ใช้กินและยาฉีดเพื่อที่จะอยู่กับโรคนี้ไปตลอดชีวิต

กลไกการเกิดโรคเบาหวาน เบาหวานเกิดจากความผิดปกติของอวัยวะในร่างกายคือตับอ่อนที่ปกติจะต้องทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนอินซูลิน(Insulin) แล้วอินซูลินจะทำหน้าที่นำน้ำตาลจากเลือดเข้าสู่เซลล์ต่างๆ เพื่อให้เซลล์นำน้ำตาลนั้นไปใช้ให้เกิดพลังงานแก่ร่างกาย แต่เมื่อตับอ่อนมีความผิดปกติทำหน้าที่ไม่ได้หรือทำหน้าที่ไม่สมบูรณ์กล่าวคือตับอ่อนอาจจะไม่สามารถสร้างฮอร์โมนอินซูลินได้เลยหรือสร้างได้แต่สร้างได้ในปริมาณน้อยอีกทั้งประกอบกับความผิดปกติของร่างกายที่เซลล์ต่างๆในร่างกายดื้อต่ออินซูลิน(Insulin resistance) ทำให้น้ำตาลไม่ถูกเคลื่อนย้ายจากเลือดเข้าสู่เซลล์ทำให้เกิดผลคือ ระดับน้ำตาลในเลือดจะสูงกว่าปกติ ความผิดปกติของร่างกายที่เป็นกลไกการเกิดโรคเบาหวานนี้เป็นกระบวนการที่ซับซ้อนที่เกิดจากการดำเนินชีวิตประจำวันและเกิดจากพันธุกรรมที่ยังไม่ทราบสาเหตุอย่างแน่ชัดว่าเกิดจากอะไรกันแน่ แต่ผลจากความผิดปกติของร่างกายนี้ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติที่เรียกว่า โรคเบาหวาน(DM) นั่นเอง

เบาหวานมีกี่ประเภท ประเภทของโรคเบาหวานแบ่งออกได้เป็น 4ชนิดซึ่งบางชนิดก็พบได้น้อยแต่บางชนิดก็พบได้ในผู้ป่วยจำนวนมากเรามารู้จักกันดีกว่าว่าประเภทของเบาหวานทั้ง 4 ชนิดมีอะไรบ้าง

  1. เบาหวาน Type 1 หรือโรคเบาหวานชนิดที่ต้องพึ่งอินซูลิน(Insulin-dependent diabetes mellitus) มีสาเหตุจากการที่ตับอ่อนทำหน้าที่บกพร่องคือไม่สามารถผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้เลยหรือสร้างได้แต่น้อยมาก ตามที่รู้กันว่าถ้าร่างกายขาดฮอร์โมนอินซูลินหรือมีแต่น้อยผลก็คือร่างกายจะมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงมาก ผู้ป่วยเบาหวาน Type 1 จึงต้องรับการรักษาด้วยวิธีฉีดอินซูลินตลอดชีวิต(ต้องพึ่งอินซูลิน)
  2. เบาหวาน Type 2 ที่มักจะพบในวัยผู้ใหญ่จึงเรียกว่า เบาหวานในผู้ใหญ่ สาเหตุเกิดจากการที่แม้ว่าตับอ่อนจะยังสามารถสร้างฮอร์โมนอินซูลินได้อยู่แต่อาจมีภาวะที่เซลล์ดื้อต่ออินซูลิน(Insulin resistance) ทำให้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ เบาหวานชนิดที่ 2 นี้อาจเริ่มการรักษาด้วยวิธีควบคุมอาหารหรือกินยาเพื่อลดระดับน้ำตาลในเลือดได้แต่หากเวลาผ่านไปหากเซลล์ในตับอ่อนถูกทำลายเสียหายมากขึ้นก็อาจต้องรักษาด้วยการฉีดอินซูลิน
  3. เบาหวานในหญิงตั้งครรภ์ ในช่วงระหว่างการตั้งครรภ์จะมีฮอร์โมนชนิดหนึ่งจากรกที่มีฤทธิ์ในการต้านอินซูลินส่งผลให้การตอบสนองของร่างกายต่อฮอร์โมนอินซูลินลดลง ถ้าร่างกายไม่สามารถสร้างอินซูลินเพิ่มได้อย่างเพียงพอจะทำให้เป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ได้
  4. เบาหวานที่มีสาเหตุเฉพาะ(Other specific types of diabetes) สาเหตุเฉพาะที่ทำให้เกิดโรคเบาหวานมีหลายสาเหตุ เช่น โรคของตับอ่อน ตับอ่อนอักเสบ โรคต่อมไร้ท่อ ยีนที่ควบคุมการทำงานของตับอ่อนผิดปกติ ผลกระทบจากการใช้ยาบางชนิดที่ทำให้ตับอ่อนทำงานผิดปกติ ฯลฯ สาเหตุเฉพาะเหล่านี้ทำให้เบต้าเซลล์ของตับอ่อนทำงานผิดปกติจึงสร้างฮอร์โมนอินซูลินได้น้อยลงทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติกลายเป็น Diabetes คือ โรคเบาหวานนั่นเอง

การวินิจฉัยโรคเบาหวาน สาเหตุของโรคเบาหวานอาจเกิดจากทั้งพันธุกรรมและการดำเนินชีวิตดังนั้นการวินิจฉัยโรคเบาหวานจึงต้องเริ่มจากการซักประวัติการเจ็บป่วยของคนในครอบครัวและผู้ป่วยเบาหวานเองรวมถึงการตรวจร่างกายที่สำคัญคือการตรวจเลือดเพื่อวัดระดับน้ำตาลในเลือดและอาจมีการตรวจอื่นๆ ประกอบด้วยเช่น การตรวจน้ำตาลในปัสสาวะ การตรวจเลือดเพื่อดูการทำงานของไต การตรวจตาเพื่อระวังผลข้างเคียงของโรคเบาหวานที่อาจเกิดขึ้นกับจอตาที่เรียกว่า “เบาหวานขึ้นตา” เป็นต้น

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *