Lumbar spondylosis คือโรคปวดหลังชนิดหนึ่ง

Lumbar degenerative disease หรือ Lumbar spondylosis คือโรคข้อต่อกระดูกสันหลังเอวเสื่อม เป็นโรคที่มีอาการปวดบริเวณหลังความสัมพันธ์กับอายุที่เพิ่มมากขึ้นเป็นปัจจัยสำคัญ เป็นอาการปวดหลังที่พบได้มากในกลุ่มวัยกลางคนถึงผู้สูงอายุ เนื่องจากข้อต่อกระดูกสันหลังส่วนเอวเป็นข้อต่อที่ต้องรับน้ำหนักของร่างกายเกิดการเสื่อมสภาพตามอายุการใช้งานนั่นเอง

โรคข้อต่อกระดูกสันหลังเอวเสื่อมมักมีความสัมพันธ์กับอายุ ผู้ป่วยส่วนมากมักเป็นคนวัยกลางคนขึ้นไปจะมีอาการปวดหลังโดยที่ไม่สามารถบอกตำแหน่งได้อย่างชัดเจน บริเวณที่ปวดประมาณเอวส่วนล่างคือบริเวณบั้นท้าย สะโพก และจะปวดร้าวลงไปที่ต้นขา เมื่อมีการเคลื่อนไหวอาการปวดจะปวดมากขึ้นแต่หากหยุดพักอาการปวดจะลดลง อาการปวดหลังในระยะนี้จะเป็นๆ หายๆ นอกจากนี้อาจมีอาการที่เกิดร่วมกับปวดหลังเช่น การจำกัดมุมการเคลื่อนไหว มีอาการล้าขณะทำกิจกรรม สะโพกอ่อนแรง บางครั้งปวดตอนกลางคืนจะมีอาการของ Systemic symptoms เช่น มีเหงื่อออกมาก มีไข้ การตรวจทางระบบประสาทและการตรวจทางร่างกายมักจะไม่มีอะไรผิดปกติ

อาการของโรคข้อต่อกระดูกสันหลังเอวเสื่อมระยะต่อมาคือ ข้อสันหลังหลวมและขยับได้มากกว่าปกติจนทำให้บางส่วนของผิวข้อเคลื่อนออกจากกัน การที่ข้อสันหลังหลวมและการยุบตัวของหมอนรองกระดูกสันหลังจะทำให้ช่องโพรงกระดูกสันหลังค่อยๆ แคบลงจนเกิดการทำลายผิวข้อ(Joint erosion)  อาการปวดหลังจะเกิดบ่อยขึ้นและรุนแรงมากขึ้น รากประสาทอาจถูกกดทับทำให้เกิดอาการชาและกล้ามเนื้ออ่อนแรงได้

เมื่อหมอนรองกระดูกสันหลังยุบตัวลงจนทำให้ช่องโพรงกระดูกสันหลังแคบจนเกือบชิดกันจะทำให้เกิดกระดูกงอกรอบๆข้อสันหลังและเกิดภาวะข้อเชื่อมติดกันได้ อาการที่กล่าวมานี้ในตอนแรกจะเกิดกับข้อกระดูกสันหลังในระดับเดียวก่อนแต่เมื่อเกิดแรงกดเพิ่มมากขึ้นต่อข้อสันหลังระดับอื่นที่อยู่ใกล้เคียงกันจะทำให้ข้อสันหลังระดับอื่นที่อยู่ใกล้เคียงกันเกิดการเสื่อมตามมาได้

ภาวะการเสื่อมสภาพในระยะแรกๆ  ผู้ป่วยโรคข้อต่อกระดูกสันหลังเอวเสื่อมส่วนใหญ่หากมีอาการก็มักหายได้เองและตอบสนองดีต่อการรักษาแบบอนุรักษ์นิยมเช่น การนอนพักจะทำให้อาการดีขึ้น การให้ยาแก้ปวด ยาคลายกล้ามเนื้อหรือยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ การทำกายภาพบำบัด การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดอาการปวดหลัง การควบคุมน้ำหนักเพื่อป้องกันไม่ให้กระดูกสันหลังต้องรับน้ำหนักมากเกินไป เป็นต้น

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *