ปวดไมเกรน (Migraine Headache) หรือปวดศีรษะข้างเดียว

ปวดหัวไมเกรน  (Migraine Headache) อาการที่จะเรียกว่าปวดไมเกรนนั้นต้องได้รับการตรวจและซักประวัติจากแพทย์อย่างละเอียด ปวดศีรษะข้างเดียวต้องสังเกตลักษณะอาการปวด ระยะเวลา ความถี่ของการปวดศีรษะ ตลอดจนความรุนแรง บางครั้งอาจมีอาการร่วมอย่างอื่นด้วยเช่น มีไข้ ชัก คลื่นไส้ เวียนศีรษะ ตาโปนและการอ่อนแรงของแขนขาข้างใดข้างหนึ่ง ฯลฯ

ลักษณะสำคัญของไมเกรนคือการปวดศีรษะที่มีความรุนแรงอยู่ที่ระดับปานกลางถึงปวดอย่างรุนแรงและเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่วนมากจะปวดหัวข้างเดียวแต่ไม่ใช่ว่าไมเกรนจะไม่มีการปวดศีรษะทั้งสองข้าง อาการปวดหัวจะเป็นมากขึ้นเมื่อมีปัจจัยอื่นๆมากระทบเช่น แสงสว่างหรือการเคลื่อนไหวของร่างกาย ส่วนมากผู้ป่วยไมเกรนจะมีอาการคลื่นไส้ร่วมด้วย

ระยะเวลาของการปวดไมเกรน จะแตกต่างกันไป อาการปวดจะเป็นมากขึ้นเมื่อมีการเคลื่อนไหวร่างกาย หากสังเกตให้ดีจะพบว่ามีอาการนำก่อนที่จะปวดหัวไมเกรนเช่น เห็นแสงระยิบระยับ วูบวาบ ตาพร่าไปชั่วขณะหนึ่งหรือร่างกายเกิดการชาซีกใดซีกหนึ่งโดยอาการนำจะเป็นอยู่ประมาณ 30 นาที ส่วนระยะเวลาการปวดไมเกรนจะอยู่ตั้งแต่ครึ่งชั่วโมงจนถึง 12 ชั่วโมง

สาเหตุของไมเกรน เกิดจากความไวของระบบประสาทที่มีต่อสิ่งแวดล้อมภายนอกมากเกินไปทำให้เส้นประสาทโดยรอบสมองเกิดการอักเสบ การปวดหัวไมเกรน (Migraine Headache) ทำให้ผู้ป่วยทรมานจากการปวดจนไม่สามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้ตามปกติเช่น ทำงานไม่ไหว นอนไม่พอ อ่านหนังสือไม่รู้เรื่องและบางรายอาจเครียดจนเสียสุขภาพทางจิต

สิ่งกระตุ้นให้เกิดการปวดไมเกรน มักจะเกี่ยวกับเรื่องอาหารการกินเช่น กินอาหารผิดเวลา อาหารที่กินมีสารปรุงรสอาหารมากเกินไป ส่วนการนอนหลับและการเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนในร่างกายก็มีผลกระทบต่อการปวดไมเกรนได้เช่นกัน อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ปวดไมเกรนรุนแรงขึ้นคือความเครียด ผู้ป่วยไมเกรนที่ไม่สามารถทำให้เกิดการผ่อนคลายได้จะปวดรุนแรงขึ้นและความถี่ในการปวดจะมากขึ้นด้วย นอกจากนี้สิ่งแวดล้อมรอบตัวก็ทำให้ปวดไมเกรนได้คือ แดดร้อน ควันไอเสียรถยนต์ กลิ่นน้ำหอมที่ฉุนจัด ควันบุหรี่ ฯลฯ

การรักษาปวดหัวไมเกรน ทำได้โดยการให้ผู้ป่วยไมเกรนอยู่นิ่งๆ นอนพักแล้วหลับตา อาจมีการนวดและประคบร้อน-ประคบเย็นเพื่อให้ผู้ป่วยเกิดการผ่อนคลาย หากไม่ดีขึ้นก็ต้องให้ผู้ป่วยกินยาบรรเทาปวดโดยเริ่มจากยาแก้ปวดธรรมดาก่อนคือพาราเซตามอล (Paracetamol) หากอาการปวดยังไม่ดีขึ้นให้ใช้ยาแก้ปวดที่แรงขึ้นเช่น บรูเฟ่น (Ibuprofen) พอนสะแตน (Ponstan) มีข้อควรระวังเกี่ยวกับการใช้ยาสองตัวนี้คือต้องกินหลังอาหารทันทีเพราะเป็นยาที่มีฤทธิ์กัดกระเพาะอาหาร

ยาที่ใช้บรรเทาอาการปวดไมเกรนโดยเฉพาะที่ให้ผลปิดกั้นการออกฤทธิ์ต้านเซอโรโตนิน (เป็นสารที่หลั่งจากสมองทำให้ปวดไมเกรน) เช่น คาเฟอกอต (Catergot) ทริปแทน ฯลฯ เนื่องจากยาเหล่านี้ไม่ใช่ยาที่ใช้ทั่วไปจึงอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงต่อผู้ใช้ได้ ดังนั้นก่อนใช้ยารักษาไมเกรนโดยเฉพาะควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์ก่อน

การป้องกันปวดหัวไมเกรน ทำได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ทำให้ร่างกายตอบสนองมากเกินไป ให้ทำกิจวัตรประจำวันอย่างสม่ำเสมอและหลีกเลี่ยงปัจจัยที่จะกระตุ้นให้เกิดอาการปวดหัวขึ้นมา หากไม่ดีขึ้นก็ต้องรักษาโดยการใช้ยาโดยต้องเลือกชนิดของยาแก้ไมเกรนและปรับขนาดของยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย ที่สำคัญคือต้องกินยาอย่างต่อเนื่องจนอาการปวดหัวไมเกรน (Migraine Headache) ดีขึ้น