ความเครียด(Stress) เกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัยทุกอาชีพหรือแม้แต่คนตกงานก็เครียดได้อย่างไม่มีข้อแม้ บางคนเครียดเพราะจนไม่มีจะกินแต่บางคนก็มีมากเกินไปจนเครียดได้เช่นกัน ความเครียดจะส่งผลกระทบต่อระบบต่างๆของร่างกาย หากใครมีความเครียดในระดับที่น้อยหน่อยความเครียดจะเป็นเหมือนระบบเตือนภัยให้แก่ร่างกายเตรียมพร้อมในการรับมือกับเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นในระยะเวลาอันใกล้(อันนี้เป็นผลดี) แต่หากใครมีความเครียดมากเกินไปก็อาจทำให้เกิดผลเสียต่อร่างกายได้
อาการต่างๆ ที่เกิดจากความเครียดและส่งผลเสียต่อสุขภาพโดยรวม เช่น ปวดหัว กินไม่ได้ ไม่อยากนอน ปวดตามเนื้อตามตัว ท้องผูก อ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียน ฯลฯ ความเครียดจะทำให้คุณกลายเป็นคนที่มีความวิตกกังวล ซึมเศร้า หงุดหงิดง่าย ขี้หลงขี้ลืม บางคนแก้ปัญหาด้วยวิธีที่คิดว่าเป็นการผ่อนคลายตัวเองเช่น สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เก็บตัวเงียบๆอยู่คนเดียว ความเครียดจะทำให้เกิดปัญหาทั้งทางร่างกายและจิตใจทำให้คนที่อยู่รอบข้างพลอยเครียดไปด้วย นานวันเข้าจะทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย ปวดท้ายทอยสุดท้ายก็ล้มป่วยจนต้องเข้ารับการรักษาจากแพทย์
ความเครียดมีสาเหตุจากทั้งปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายในเช่น ตกงาน เลื่อนตำแหน่ง ย้ายบ้าน แฟนทิ้ง ทะเยอทะยานเกินตัว ใฝ่สูง เมื่อทำไม่ได้หรือไม่สำเร็จก็จะเกิดความไม่พอใจเสียใจที่เหตุการณ์ไม่เป็นไปตามที่ตนเองคาดหวังไว้ หากกำจัดความเครียดให้น้อยลงหรือหมดไปได้อาการก็จะดีขึ้นแต่หากความเครียดยังคงอยู่ก็จะกลายเป็นความเครียดเรื้อรัง(Chronic Stress) อันจะเกิดผลกระทบต่อสุขภาพของคุณอย่างแน่นอน
การจัดการกับความเครียด(Stress Management) สาเหตุหนึ่งของความเครียดคือการถูกจำกัดเวลา ชีวิตประจำวันที่เร่งรีบแบบแย่งกันกินแย่งกันหายใจแย่งกันทำงานแย่งกันขึ้นรถเมล์ รถไฟใต้ดินและอีกสารพัดที่จะแย่งกัน ดังนั้นการทำชีวิตให้มีกรอบของเวลาเช่นตื่นนอนและเข้านอนให้ตรงเวลา จัดตารางการเรียนการทำงานให้มีเวลาที่พอดีไม่เร่งรีบเกินไป การทำกิจกรรมต่างๆในชีวิตประจำวันของเราให้อยู่ในตารางเวลาอย่างสม่ำเสมอจะทำให้นาฬิกาชีวิตในตัวเรา(Body clock) กลับมาเป็นปกติหลังจากที่ปั่นป่วนไประยะหนึ่งเพราะความเครียด การวางแผนจัดลำดับงานตามความสำคัญก่อนหลังให้มีความเหมาะสมจะช่วยลดความเครียดลงได้ จัดเวลาพักผ่อนให้กับตัวเองบ้าง หากจะต้องมีการตัดสินใจเรื่องใหญ่ๆเช่นการซื้อบ้านหรือย้ายบ้านใหม่ การเปลี่ยนงานก็ควรค่อยๆ พิจารณาอย่างถี่ถ้วนหากไม่มีความพร้อมก็ให้เลื่อนออกไปก่อนเพราะแน่นอนว่าการตัดสินใจเรื่องสำคัญเหล่านี้ต้องทำให้เกิดความเครียดอย่างมากต่อคุณ ปล่อยให้เวลาผ่านไปสักระยะหนึ่งเมื่อคุณพร้อมแล้วจึงค่อยกลับมาพิจารณาเรื่องเหล่านี้ใหม่
การดูแลสุขภาพในระหว่างที่ร่างกายเกิดความเครียด ควรพักผ่อนให้เพียงพอและบำรุงร่างกายด้วยอาหารประเภทผักและวิตามิน นอกจากนี้คุณต้องแบ่งเวลาให้สำหรับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมออีกด้วย ความเครียดมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ความเครียดที่พอดีจะช่วยกระตุ้นให้เราทำงานได้ดีขึ้นแต่หากมีความเครียดมากเกินไปจะทำให้เสียสุขภาพ ดังนั้นควรดำเนินชีวิตด้วยวิธีการเดินทางสายกลางเพื่อป้องกันตัวเองจากความเครียดที่อาจเกิดขึ้นได้