ปัญหาสุขภาพผู้สูงอายุไทย

วัยสูงอายุเป็นวัยที่ต้องรับมือกับการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ปัญหาด้านสุขภาพเป็นปัญหาที่สำคัญอันดับต้นๆ เนื่องจากผู้สูงอายุจะเป็นวัยที่ร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ถดถอยและเสื่อมลงปัญหาสุขภาพในผู้สูงอายุทั้งทางร่างกายและจิตใจอย่างเห็นได้ชัด การมีสุขภาพดีเป็นที่ปรารถนาของคนทุกวัยโดยเฉพาะในวัยสูงอายุ หากมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงสามารถช่วยเหลือตนเองไปไหนมาไหนได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องเป็นภาระของคนในครอบครัวผู้สูงอายุก็จะมีความสุขมีความมั่นใจและสามารถใช้ชีวิตอยู่ต่อไปได้อย่างมีความสุข

ปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพ ร่างกายไม่สมบูรณ์มีโรคประจำตัวเวลาจะทำกิจกรรมอะไรแม้แต่การทำกิจวัตรประจำวันก็ยังต้องได้รับความช่วยเหลือจากผู้ดูแล ปัญหาสุขภาพทางกายจะทำให้ผู้สูงอายุเกิดปัญหาสุขภาพจิตตามมาเนื่องจากการช่วยเหลือตนเองไม่ได้ต้องเป็นภาระแก่ลูกหลาน การที่ผู้สูงอายุเปลี่ยนบทบาทจาก “ผู้ให้” มาเป็น “ผู้รับ” ทำให้ความสุขที่เคยมีกลับลดลงและขาดความมั่นใจ หากอาการหนักมากก็อาจทำให้ผู้สูงอายุเกิดภาวะซึมเศร้าได้

การแบ่งกลุ่มผู้สูงอายุโดยใช้สุขภาพเป็นเกณฑ์ ผู้สูงอายุที่มีสุขภาพดีย่อมทำกิจกรรมหรือช่วยเหลือตัวเองได้โดยไม่ต้องรับความช่วยเหลือจากผู้อื่น ดังนั้นสิ่งสำคัญคือการรู้จักดูแลสุขภาพและการป้องกันโรคในผู้สูงอายุ การประเมินความสามารถของผู้สูงอายุว่าสามารถทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น การเดิน-เคลื่อนไหว การกินอาหารและการขับถ่ายว่าสามารถทำได้ด้วยตนเองหรือต้องรับความช่วยเหลือจากคนใกล้ตัวแล้วนำมาแบ่งกลุ่มตามระดับความสามารถในการช่วยเหลือตัวเองได้เป็น 3 กลุ่มดังนี้คือ

1. กลุ่มผู้สูงอายุติดสังคม เป็นผู้สูงอายุที่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ด้วยตนเองมีสุขภาพดีแม้จะมีโรคประจำตัวอยู่แต่ก็รู้จักดูแลสุขภาพและการป้องกันโรคในผู้สูงอายุโดยเฉพาะโรคที่พบในผู้สูงอายุได้บ่อยเช่น โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคไต เป็นต้น จนสามารถควบคุมอาการของโรคได้ ผู้สูงอายุในกลุ่มนี้เป็นผู้สูงอายุที่มีศักยภาพเพราะนอกจากจะช่วยเหลือดูแลตนเองได้โดยไม่ต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากคนรอบข้างแล้วยังสามารถให้ความช่วยเหลือผู้อื่นให้ความร่วมมือกับสังคมและชุมชนได้เป็นอย่างดี ผู้สูงอายุจะสามารถอยู่ในบ้าน เดินขึ้นลงบันไดได้ด้วยตนเอง สามารถเดินบนทางเรียบออกไปนอกบ้านได้ การกินอาหารก็สามารถทำได้ด้วยตนเอง(ไม่ทำให้หกเลอะเทอะ) ในเรื่องการขับถ่ายก็สามารถเดินเข้าห้องน้ำและขับถ่ายได้ตามปกติ

2. กลุ่มผู้สูงอายุติดบ้าน เป็นผู้สูงอายุที่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้แต่ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง ผู้สูงอายุอาจมีโรคประจำตัวหรืออาจจะทุพพลภาพบางส่วนทำให้ต้องการความช่วยเหลือในการทำกิจวัตรประจำวัน เช่น การเดินภายในบ้านและการขึ้นลงบันไดต้องมีคนพยุงหรือใช้อุปกรณ์ช่วยเหลือ ส่วนการกินอาหารและการเข้าห้องน้ำต้องอาศัยความช่วยเหลือจากผู้ดูแลมิฉะนั้นอาจทำให้เกิดความเลอะเทอะหรืออาจเกิดอุบัติเหตุได้

3. กลุ่มผู้สูงอายุติดเตียง เป็นผู้สูงอายุที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้เลยต้องมีคนช่วยในการทำกิจวัตรประจำวัน อาจเป็นผู้สูงอายุที่ป่วยหรือพิการต้องดูแลสุขภาพอย่างต่อเนื่อง ผู้สูงอายุจะไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ด้วยตนเองแม้แต่ในขณะที่นั่งหรือนอนก็ย้ายตัวเองหรือขยับตัวไม่ได้ถ้าไม่มีคนคอยช่วยเหลือ การกินอาหารแม้จะมีคนป้อนอาหารแต่ก็กลืนอาหารลำบาก ผู้สูงอายุติดเตียงอาจรับสารอาหารผ่านช่องทางอื่นเช่น จมูก เป็นต้น ส่วนเรื่องการขับถ่ายต้องสวมใส่ผ้าอ้อมและเปลี่ยนผ้าอ้อมเป็นประจำ ผู้สูงอายุต้องขับถ่ายบนเตียงขณะอยู่ในท่านอน

การดูแลสุขภาพเป็นสิ่งที่สำคัญมากโดยเฉพาะกับผู้ที่อยู่ในวัยสูงอายุ อันที่จริงแล้วการดูแลสุขภาพควรเริ่มทำทันทีไม่ต้องรอให้เข้าสู่วัยสูงอายุแล้วค่อยคิดจะทำซึ่งอาจจะสายเกินไป หากดูแลสุขภาพดีคุณจะเป็นผู้สูงอายุติดสังคมที่สามารถช่วยเหลือตนเองและสังคมได้แต่หากดูแลสุขภาพไม่ดีเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุก็จะกลายเป็นผู้สูงอายุติดบ้านหรือผู้สูงอายติดเตียงที่ต้องคอยรับความช่วยเหลือหรือต้องมีคนดูแลจนอาจส่งผลกระทบกับความรู้สึกทางจิตใจทำให้เกิดเป็นปัญหาทางสุขภาพจิตตามมา ทั้งนี้ปัญหาทางด้านสุขภาพของผู้สูงอายุจะทำให้เกิดผลกระทบกับผู้สูงอายุน้อยลงหากรู้จักการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในผู้สูงอายุ

การมีสุขภาพที่ดีถือเป็นการป้องกันโรคได้ แม้จะเข้าสู่วัยสูงอายุแล้วร่างกายจะเกิดความเสื่อมถอยในด้านต่างๆ ก็ตามแต่การรู้จักดูแลและการส่งเสริมสุขภาพแม้จะป้องกันโรคไม่ได้เต็มร้อยแต่ก็ช่วยลดปัญหาหรือความรุนแรงของโรคที่พบในผู้สูงอายุที่อาจจะเกิดขึ้นจากความเจ็บป่วยนั้นๆ ได้มากเช่น การปฏิบัติตามคำแนะนำจากแพทย์หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรื่อง การกินอาหาร การออกกำลังกาย การพักผ่อน การใช้ยาเท่าที่จำเป็น(ตามคำสั่งแพทย์) การระมัดระวังอุบัติเหตุโดยเฉพาะการป้องกันการหกล้มในผู้สูงอายุและการตรวจสุขภาพประจำปี เป็นต้น

หลักสำคัญในการดูแลสุขภาพ การดูแลสุขภาพที่ถูกวิธีจะทำให้ร่างกายแข็งแรงไม่เกิดโรค การดูแลสุขภาพจะเกี่ยวในหลายๆ ด้านทั้งเรื่องการกินอาหาร การออกกำลังกาย การพักผ่อน การจัดการความเครียด โดยในภาพรวมเรื่องต่างๆ เหล่านี้จะถูกผสมผสานเข้าด้วยกันเพื่อจุดประสงค์ในการมีสุขภาพที่ดี ได้แก่ การโภชนาการที่สมดุล คือการกินอาหารให้หลากหลายและร่างกายได้รับสารอาหารครบทั้งห้าหมู่ ให้เลือกโปรตีนที่มีคุณภาพเช่น ถั่ว ปลา ไก่ เต้าหู้ หากเน้นการกินผักและผลไม้ได้ก็จะดีต่อสุขภาพ อาหารที่กินควรลดการบริโภคไขมันอิ่มตัว น้ำตาล เกลือให้น้อยที่สุดเพราะสิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคต่างๆ ได้ ควรดื่มน้ำประมาณ 8 แก้วต่อวันเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย

การพักผ่อนที่เพียงพอ เป็นสิ่งที่ดีหากสามารถนอนหลับได้อย่างน้อย 7-8 ชั่วโมงต่อคืนและจะนอนหลับได้ดียิ่งขึ้นหากสร้างบรรยากาศที่เหมาะสมสำหรับการนอน เช่น ห้องนอนมืด สงบ และอุณหภูมิที่สบายตัวทำให้นอนหลับสบาย ควรปรับตารางการนอนให้เป็นเวลาเดียวกันทุกวัน

การจัดการความเครียด โดยใช้วิธีการผ่อนคลาย เช่น การฝึกสมาธิ การทำโยคะ หรือการฝึกหายใจลึกๆ ทำกิจกรรมที่ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย เช่น อ่านหนังสือ ฟังเพลง เดินเล่นหรือทำกิจกรรมที่ชอบ เม้าท์มอย พูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเพื่อนหรือครอบครัว

การออกกำลังกายสม่ำเสมอ พยายามออกกำลังกายโดยทำให้เป็นกิจวัตรและทำอย่างสม่ำเสมอ เช่น การเดิน การวิ่ง การว่ายน้ำ หรือการปั่นจักรยาน เป็นต้น ควรทำการเสริมสร้างกล้ามเนื้อด้วยการฝึกยกน้ำหนักอย่างน้อย 2 วันต่อสัปดาห์และทำกิจกรรมที่เพิ่มความยืดหยุ่น เช่น การยืดเส้นหรือการเล่นโยคะ

การตรวจสุขภาพประจำปี สิ่งที่ต้องทำเป็นประจำโดยเฉพาะเมื่อมีอายุมากขึ้นควรตรวจสุขภาพประจำปีเพื่อตรวจหาความผิดปกติเป็นการป้องกันก่อนเกิดโรคภัย ให้ตรวจสอบประวัติการฉีดวัคซีนและควรเข้ารับวัคซีนตามกำหนด สิ่งที่ถูกมองข้ามอย่างหนึ่งคือการหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เป็นอันตรายโดยงดสูบบุหรี่ และหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และหลีกเลี่ยงการใช้สารเสพติดและสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย

ประการสุดท้ายคือการรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคลที่หากทำได้จนติดเป็นนิสัยแล้วก็จะทำให้มีสุขภาพที่ดีได้ เช่น การล้างมือบ่อยๆ(โดยเฉพาะหลังการใช้ห้องน้ำ ก่อนกินข้าว) แปรงฟันทุกวันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ที่สำคัญคืออย่าเครียด หมั่นดูแลสุขภาพจิตด้วยการทำให้รู้สึกผ่อนคลายด้วยการทำกิจกรมที่ชอบ พูดคุยกับเพื่อนฝูง หากจำเป็นอาจต้องปรึกษาจิตแพทย์เมื่อมีปัญหาเรื่องสุขภาพจิต

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *