ความเชื่อที่ว่าโรคกระดูกพรุนไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้เมื่ออายุมากขึ้นนั้นเป็นความจริงเพียงส่วนหนึ่ง แม้ว่าอาการกระดูกพรุนเป็นอาการที่มักจะเกิดขึ้นตามวัยทำให้ผู้สูงวัยต้องพบกับอาการปวดหลัง ปวดแขนขา กระดูกแขนขาเปราะหรือแตกหักง่าย แต่หากคุณมีการเตรียมพร้อมสำหรับการรับมือกับอาการกระดูกพรุน คุณจะได้รับผลกระทบจากโรคกระดูกพรุนน้อยลงหรือโรคกระดูกพรุนอาจไม่มีผลกับคุณเลยก็ได้
การเตรียมตัวรับมือเพื่อป้องกันโรคกระดูกพรุน ควรทำการบำรุงรักษากระดูกโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ การทำเช่นนี้จะช่วยชะลอภาวะกระดูกพรุนที่จะเกิดกับคุณเมื่อเป็นผู้สูงวัย การบำรุงรักษากระดูกควรพิจารณาจากปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคกระดูกพรุนซึ่งมีหลายปัจจัยไม่ว่าจะเป็น เพศ วัยหรืออาจต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ทำให้เสี่ยงกับอาการกระดูกพรุน
วัยคือปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อโรคกระดูกพรุน ความหนาแน่นของมวลกระดูกจะสูงสุดที่อายุ 25-35 ปี หลังจากนั้นกระดูกจะมีความหนาแน่นลดลงเรื่อยๆ ทั้งชายและหญิง โดยทั่วไปความหนาแน่นของกระดูกจะลดลงเป็นค่าเฉลี่ยประมาณ 6-8 % ในทุก 10 ปี
เพศเป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อโรคกระดูกพรุน เพศหญิงในวัยหมดประจำเดือนจะมีฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลงทำให้เกิดการดึงเอาแคลเซียมออกจากกระดูกมากกว่าปกติซึ่งจะส่งผลให้กระดูกของผู้หญิงในวัยหมดประจำเดือนเสื่อมสลายเร็วกว่าเพศชาย
พฤติกรรมการดำเนินชีวิตก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบกับการเกิดการพรุนของกระดูก ได้แก่ การดื่มชา กาแฟ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ ไม่ชอบออกกำลังกาย ฯลฯ อีกทั้งการกินอาหารที่มีรสเค็มจัดก็ส่งผลต่อภาวะกระดูกพรุนได้เช่นกัน
การป้องกันและรับมือกับโรคกระดูกพรุนในยามสูงวัย มีวิธีเสริมสร้างบำรุงกระดูกให้แข็งแรงเพื่อรับมือหรือลดการเผชิญหน้ากับปัจจัยเสี่ยงที่คุณสามารถเลือกทำได้ตามถนัดทั้งนี้แล้วแต่ฐานะของคุณว่าจะเอื้ออำนวยด้วยการปฏิบัติตามด้วยวิธีใดไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย ปรับพฤติกรรมเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุนหรือหาวิธีเสริมสร้างและบำรุงกระดูกให้แข็งแรง
การออกกำลังกาย ควรออกกำลังกายด้วยการลงน้ำหนักเช่น เดินหรือวิ่งเหยาะๆ วันละประมาณครึ่งชั่วโมงเป็นอย่างน้อย โดยทำประมาณ 2-3 วันต่อสัปดาห์ การออกกำลังกายจะทำให้แคลเซียมจับกระดูกได้ดีขึ้นกว่าเดิม ส่วนการงดเว้นพฤติกรรมเสี่ยงในการดำเนินชีวิตประจำวันด้วยการลดอาหารประเภทโปรตีนลงเพราะการกินโปรตีนมากเกินไปจะทำให้ไตทำงานขับแคลเซียมออกมาทางปัสสาวะมากผิดปกติ ควรลดการกินอาหารที่มีรสเค็มจัดเพราะโซเดียมที่มากเกินพอดีจะทำให้ลำไส้ดูดซึมแคลเซียมได้ลดลงส่งผลให้ร่างกายไม่สามารถนำแคลเซียมมาใช้ได้ พฤติกรรมการสูบบุหรี่บ่อยๆ ก็ทำให้สำไส้ดูดซึมแคลเซียมได้ลดลงเช่นกันเพราะไปขัดขวางการทำงานของฮอร์โมนเอสโตรเจน การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เช่นผู้หญิงที่ดื่มเบียร์ 2 ขวดต่อวันจะมีความเสี่ยงต่อภาวะกระดูกหักเพิ่มเป็น 2 เท่ามากกว่าคนที่ไม่ได้ดื่ม ถ้าดื่มเบียร์มากกว่านั้นเป็นวันละ 4 ขวดความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นเป็น 7 เท่า ทั้งนี้รวมถึงการกินกาแฟที่มีสารคาเฟอีนจะทำให้อัตราเสี่ยงต่อกระดูกหักเพิ่มขึ้นมากกว่าคนปกติที่ไม่ดื่มกาแฟ
การบำรุงกระดูกด้วยอาหารเสริมที่สร้างกระดูก ควรมีแร่ธาตุทั้งหลายที่จำเป็นต่อการเสริมสร้างกระดูกเช่น แคลเซียม โพแทสเซียม แมกนีเซียม ฟอสฟอรัส และวิตามินบี6 วิตามินซีและวิตามินเค ทั้งนี้การเสริมแร่ธาตุต่างๆให้ร่างกายควรทำก่อนอายุ 30 ปีจะทำให้ได้ผลดีกว่า แต่ถึงอย่างไรหากทำการเสริมแคลเซียมหลังจากอายุเลย 30 ปีมาแล้วก็จะมีผลในเรื่องการชะลอความเสื่อมของกระดูกให้เกิดช้าลง ส่วนแมกนีเซียมร่างกายต้องการนำไปดูดซึมแคลเซียมเพื่อนำไปใช้ประโยชน์โดยปกติร่างกายจะใช้แมกนีเซียมกับแคลเซียมในอัตรา 1:2
สุดท้ายนี้อย่าคิดว่า “กระดูกพรุน” เป็นเรื่องไกลตัว การป้องกันกระดูกพรุนให้ได้ผลต้องทำแต่เนิ่นๆ อย่ารอให้เข้าวัยสูงอายุแล้วค่อยมาคิดวิธีรับมือกับโรคกระดูกพรุน หากเริ่มต้นบำรุงกระดูกเสียตั้งแต่บัดนี้จะทำให้คุณไม่เกิดปัญหากับอาการกระดูกพรุนในวัยชรา