สร้างสุขภาพที่ดีทำได้อย่างไร ก่อนอื่นต้องพูดถึงคำว่า “สุขภาพดีเป็นอย่างไร” จะเอาอะไรมาเป็นเกณฑ์วัดว่า คนนั้นสุขภาพดี คนนี้สุขภาพไม่ดี คนที่ดูแลสุขภาพแต่ใช่ว่าสุขภาพจะดีเพราะทำ(ดูแลสุขภาพ)ไม่ถูกวิธี ข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพมีอะไรบ้าง องค์ประกอบของการมีสุขภาพดีและวิธีดูแลตัวเองให้มีสุขภาพดีพอจะสรุปคร่าวๆ ได้ดังนี้คือ
เกณฑ์ที่ใช้วัดว่าสุขภาพดีควรเป็นอย่างไร คนบางคนพอเราเห็นครั้งแรกก็รู้ว่าเป็นคนที่มีสุขภาพดีเพราะสภาพโดยรวมทำให้รู้สึกเช่นนั้น แต่ถ้าจะมองให้ลึกลงไปกว่านั้นต้องดูที่รายละเอียดเช่น ร่างกายมีการเจริญเติบโต น้ำหนักและส่วนสูงอยู่ในเกณฑ์ที่สมส่วน ร่างกายมีพัฒนาการที่เหมาะสมกับวัย เมื่อมองดูร่างกายจากภายนอกจะรับรู้ถึงความสะอาด หน้าตา
แจ่มใส ไม่เครียด มีความร่าเริง อารมณ์ดีเสมอ ร่างกายมีความแข็งแรงเหมาะสมกับวัยสามารถทำกิจวัตรประจำวัน ดูแลตัวเองและให้ความช่วยเหลือผู้อื่นได้ตามสมควร คนที่มีสุขภาพดีแม้จะทำงานมาเหนื่อยแต่ก็จะไม่อารมณ์เสีย มีความกระปรี้กระเปร่าอยู่เสมอ คนที่สุขภาพดีจะมีการพักผ่อนที่ต่อเนื่องและเมื่อตื่นขึ้นมาจะรู้สึกสดชื่นไม่ซึมเซาหรือง่วง
สุขภาพจิตต้องดีด้วย คนที่มีสุขภาพดีต้องดีทั้ง 2 ส่วนคือทั้ง กายและใจ สุขภาพจิตมีความสำคัญมากกว่าสุขภาพทางกายด้วยซ้ำไป แต่สิ่งที่ควรจะเป็นคือการมีสุขภาพที่ดีทั้งทางกายและทางใจ คนที่ยิ้มได้นั่นแสดงว่าสุขภาพทางใจดี ไม่ว่าจะทำงาน เล่น เที่ยว ก็จะทำอย่างมีความสุข มีจุดมุ่งหมายในชีวิตและดำเนินชีวิตไปยังเป้าหมายที่วางไว้ บางครั้งอาจมีการผิดพลาดก็สามารถยอมรับข้อบกพร่องนั้นได้ไม่ตีโพยตีพายโทษคนอื่นแต่จะพยายามมองตัวเองว่าผิดพลาดเพราะอะไรแล้วหากทางแก้ไขปรับปรุงเพื่อก้าวผ่านอุปสรรคไปยังเป้าหมายที่วางไว้ต่อไป
การดูแลสุขภาพให้ดีอยู่เสมอ เรื่องแรกคือการกินอาหารเป็นเรื่องแรกๆที่ควรให้ความสำคัญ “ รถต้องเติมน้ำมันฉันใด…คนเราก็ต้องกินอาหารฉันนั้น ” คนที่สุขภาพดีจะไม่มีอาการ “เบื่ออาหาร” จะสามารถกินอาหารได้ตามปกติ ดังนั้นทำได้ควรกินอาหารให้ตรงเวลา กินอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่และครบมื้อ มื้อที่ควรให้ความสำคัญที่สุดคือมื้อเช้า ส่วนมื้อเย็นควรเน้นอาหารจำพวกผักเพราะถ้ากินเนื้อสัตว์มากๆ ร่างกายจะเกิดปัญหาเพราะย่อยยากซึ่งอาจรบกวนทำให้การนอนไม่ต่อเนื่องและส่งผลกระทบถึงสุขภาพโดยรวมได้
สุขภาพดีเริ่มที่ตัวเรา การดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายจะทำให้ร่างกายสดชื่นเพราะระบบหมุนเวียนเลือดในร่างกายดี ผิวหนังจะดูเปล่งปลั่งและเต่งตึง จากนั้นควรเสริมด้วยการออกกำลังกายเป็นประจำ คำว่า “เป็นประจำ” มีความหมายว่าให้ทำอย่างสม่ำเสมอ การออกกำลังกายไม่ต้องออกกำลังกายหนักมากแต่ควรเน้นที่ความสม่ำเสมอโดยในอาทิตย์หนึ่งควรหาเวลาออกกำลังกายให้ได้ 3-4 วัน ๆ ละ 30 นาที(ออกกำลังอย่างต่อเนื่องได้จะดีมาก) ซึ่งจะส่งผลให้สุขภาพดีกล้ามเนื้อแข็งแรง การทำงานของหัวใจ ปอด ระบบการไหลเวียนเลือดดีขึ้น
นอนหลับให้เพียงพอ(หลับสนิทและต่อเนื่อง) สิ่งนี้เป็นองค์ประกอบของการมีสุขภาพดี โดยเฉลี่ยควรนอนประมาณวันละ 6-8 ชั่วโมงทั้งนี้ขึ้นอยุ่กับสภาพร่างกายของแต่ละบุคคลด้วย การนอนหลับจะเพียงพอต่อความต้องการหรือไม่ให้สังเกตจากตอนตื่นนอนถ้าหลังตื่นนอนแล้วรู้สึกว่ายังง่วง(อยากนอนต่อ) นั่นคือการนอนไม่พอแต่หากหลังตื่นแล้วรู้สึกกระปรี้กระเปร่าแสดงว่านอนหลับเพียงพอซึ่งจะส่งผลดีทำให้มีพลังในการทำกิจวัตรประจำวันได้ดี
สุดท้ายก็เป็นเรื่องของการหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำให้เสียสุขภาพ สุขภาพดีเริ่มที่ตัวเรา หากเราสร้างสุขภาพที่ดีขึ้นมาได้แล้วอย่าทำลายด้วยพฤติกรรมที่ส่งผลลบกับสุขภาพเช่น การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่หรือเสพสารเสพติดเพราะสิ่งเหล่านี้นอกจากจะไม่ทำให้สุขภาพดีแล้วยังเป็นการทำลายสุขภาพด้วยการทำให้เกิดโรคร้ายต่างๆ เช่น มะเร็งปอด โรคตับแข็ง เป็นต้น สุขภาพดีสร้างได้ด้วยตัวคุณเอง.
โรคที่เกิดจากอาหารไม่สะอาด การกินอาหารที่ปนเปื้อนไม่สะอาดอาจนำไปสู่การติดเชื้อของระบบทางเดินอาหารและทำให้เกิดโรคต่างๆ ขึ้นได้เช่น โรคท้องร่วง โรคบิด โรคอาหารเป็นพิษ โรคพยาธิ โรคไทฟอยด์ ฯลฯ สาเหตุเกิดจากกินอาหารที่มีการปนเปื้อนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น สารเคมี โลหะหนัก เชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย ไข่พยาธิ ฯลฯ การป้องกันโรคเหล่านี้ทำได้โดยการเพิ่มสุขอนามัยโดยรักษาความสะอาดในกระบวนการจัดเตรียมอาหาร การเก็บรักษาอาหารในอุณหภูมิที่เหมาะสม ล้างมือก่อนการทำอาหารและกินอาหาร การเลือกซื้อวัตถุดิบและอาหารจากแหล่งที่มีความน่าเชื่อถือ และการตรวจสอบวันหมดอายุของอาหาร การกระทำดังกล่าวจะเป็นการช่วยป้องกันการเกิดโรคจากอาหารที่มีสะอาดได้
โรคที่เกิดจากพฤติกรรมการกิน การสนใจดูแลพฤติกรรมการกินมีความสำคัญในการป้องกันโรคที่เกิดจากพฤติกรรมการกินได้แก่ โรคอ้วน โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวานชนิดที่ 2 โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไต โรคไขมันพอกตับ โรคกระดูกพรุน โรคกระเพาะและลำไส้ จนอาจลุกลามไปถึงมะเร็งได้ การรับประทานอาหารที่สมดุล มีประโยชน์ และหลากหลาย เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืชเต็มเมล็ด โปรตีนที่ดีต่อสุขภาพ และการลดปริมาณอาหารที่มีไขมัน น้ำตาล และเกลือสูง จะช่วยส่งเสริมสุขภาพที่ดีและลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเหล่านี้ได้
พฤติกรรมการกินที่ทำให้เกิดโรคได้ตัวอย่างเช่น การกินอาหารที่มีพลังงานสูง(กินแป้ง–ไขมันมากเกินไป) ทำให้เกิดโรคอ้วนได้ พฤติกรรมการกินอาหารที่มีปริมาณน้ำตาลและคาร์โบไฮเดรตสูงจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ให้มีโอกาสเกิดขึ้นได้มากยิ่งขึ้น พฤติกรรมการกินอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูงเช่นอาหารจานด่วน(Fast Food) อาหารที่ทอดด้วยน้ำมันจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคที่เกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือดได้ ส่วนพฤติกรรมการกินอาหารที่มีโซเดียม(เกลือ) ในปริมาณสูง บางทีอาจจะกินโดยไม่รู้ตัวเช่นอาหารปรุงสำเร็จ บะหมี่สำเร็จรูป อาหารที่ผ่านการถนอมอาหาร(หมูแฮม หมูยอ กุนเชียง ไส้กรอก) จะทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคความดันโลหิตสูงและโรคไตได้ ส่วนพฤติกรรมการกินอาหารที่อาจก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้คือกินอาหารที่มีไขมันทรานส์ ไขมันอิ่มตัว สารเคมีจากการทอดหรือย่างอาหารในอุณหภูมิสูงๆ เป็นต้น.