โรคความดันโลหิตสูงคือการที่ร่างกายมีค่าความดันโลหิตมากกว่าความดันปกติ (140/90 มิลลิเมตรปรอท) โรคความดันโลหิตสูง (High blood pressure) หากเป็นต่อเนื่องในระยะยาวจะส่งผลให้อวัยวะภายในร่างกายและระบบการทำงานต่างๆ เกิดความเสียหายได้ และที่สำคัญโรคความดันโลหิตสูงจะทำให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมาคือเป็นต้นเหตุของโรคต่างๆ หากดูแลสุขภาพไม่ดีอาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนได้อีกหลายโรคเช่น โรคหลอดเลือดแดงตีบตัน เส้นเลือดในสมองแตก อัมพฤกษ์ อัมพาต เลือดออกในสมอง โรคหัวใจ เป็นต้น
ความดันโลหิต (Blood Pressure) คือค่าแรงดันภายในหลอดเลือดแดงแบ่งเป็นค่าความดันโลหิตตัวบน (Systolic) และค่าความดันโลหิตตัวล่าง (Diastolic) ปกติค่าความดันโลหิตมาตรฐานจะอยู่ที่ 140/90 มิลลิเมตรปรอท ค่าความดันโลหิตตัวบนคือ 140 หมายถึงความดันโลหิตในหลอดเลือดแดงขณะที่หัวใจบีบเลือดสู่ระบบไหลเวียนโลหิตของร่างกาย ส่วนค่าความดันโลหิตตัวล่างคือ 90 จะแสดงถึงความดันโลหิตขณะหัวใจคลายตัว
ความดันโลหิตสูง (High blood pressure) สาเหตุเกิดจากหลายปัจจัยเช่น ปัจจัยทางพันธุกรรม พฤติกรรมเรื่องอาหารการกิน ความเครียดและปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ โรคความดันโลหิตสูงเป็นโรคประจำตัวที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้คงทำได้เพียงควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ โรคความดันโลหิตสูงอาการจะไม่มีอะไรที่เห็นได้ชัดเจนนอกจาก วิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ มึนงง เหนื่อยง่ายกว่าปกติ นอนไม่ค่อยหลับซึ่งคนส่วนมากจะเข้าใจว่าอาการของโรคความดันโลหิตสูงเป็นอาการของความเหนื่อยและเครียดจากการทำงานประจำวันจึงไม่ได้ใส่ใจที่จะดูแลรักษาปล่อยจนเกิดโรคแทรกซ้อนขึ้นมาทำให้ยากต่อการดูแลรักษา
โรคความดันโลหิตสูง การรักษาให้หายขาดไม่อาจทำได้ สิ่งที่ทำได้คือการพยายามควบคุมอาการของโรคโดยการควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ หากความดันโลหิตสูงเกินเกณฑ์ปกติอาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆตามมา ดังนั้นผู้ป่วยความดันโลหิตสูงควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่างๆที่ส่งผลกระทบต่อความดันโลหิตให้สูงขึ้นที่สำคัญคือลดการกินอาหารที่มีรสจัดโดยเฉพาะรสเค็ม ออกกำลังกายวันละ 30 นาทีเป็นประจำทุกวัน พยายามควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้อ้วน หลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำร้ายสุขภาพเช่นเหล้า-บุหรี่ ฯลฯ
การพยายามปรับพฤติกรรมดังที่กล่าวมาหากผู้ป่วยมีความดันโลหิตสูงกว่าเกณฑ์ปกติไม่มากก็อาจควบคุมอาการโรคความดันโลหิตสูงได้โดยไม่จำเป็นต้องกินยาลดความดัน แต่หากความดันโลหิตสูงกว่าเกณฑ์ปกติมากจำเป็นต้องกินยาควบคู่กันไปเพื่อให้สามารถควบคุมอาการของโรคความดันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ความดันโลหิตที่สูงขึ้นทำให้หัวใจทำงานหนักมากขึ้น หากละเลยไม่ได้ดูแลรักษาอาการจะทำให้ผนังหัวใจยืดออกจนทำให้หัวใจโตและอาจเกิดอาการหัวใจวายได้ (Heart Failure)
อันตรายจากภาวะแทรกซ้อนจากความดันโลหิตสูงอาจทำให้หลอดเลือดในสมองตีบตันหรือแตกจนเป็นอัมพาตหรืออาจถึงกับเสียชีวิตได้ หากอาการเป็นเรื้อรังจะทำให้ความจำและสมองเสื่อม หลอดเลือดเสื่อมจนเลือดไม่สามารถเลี้ยงไตได้อาจทำให้ไตวายได้ หากการที่หลอดเลือดแดงเสื่อมเกิดที่บริเวณดวงตาจะส่งผลกระทบต่อการมองเห็นได้ อาจสรุปได้ว่าโรคความดันโลหิตสูง (High blood pressure) หากควบคุมไม่ดีจนทำให้หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆเกิดความเสียหายอาจจะตีบตันหรือแตก หากเกิดกับอวัยวะส่วนใดก็จะสร้างความเสียหายร้ายแรงให้กับอวัยวะส่วนนั้นได้ แม้ว่าคุณจะไม่มีอาการของโรคความดันโลหิตสูงก็อย่าได้ประมาทหรือนิ่งนอนใจ อย่างน้อยที่สุดให้ทำการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปีหากพบว่าร่างกายมีแนวโน้มของอาการผิดปกติต่างๆให้ตรวจละเอียดอีกครั้งหรือเพิ่มความถี่ในการตรวจให้มากขึ้นเพราะโรคเหล่านี้โดยเฉพาะความดันโลหิตสูงหากตรวจเจอยิ่งเร็วยิ่งดีและง่ายต่อการดูแลรักษา