โภชนาการสำหรับผู้สูงอายุ

โภชนาการสำหรับผู้สูงอายุ อาหารเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต หลักทั่วไปของการมีสุขภาพที่ดีคือการกินอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ ออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอและไม่เครียดแต่สำหรับผู้สูงอาหารสำหรับผู้สูงอายุอายุ(อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป) มีการเปลี่ยนแปลงทั้งทางร่างกายและจิตใจ ความเสื่อมถอยที่เกิดขึ้นกับอวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกายทำให้เมนูอาหารของผู้สูงอายุต้องมีสารอาหารเพียงพอเพื่อนำไปซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย ดังนั้นผู้สูงอายุจำเป็นต้องได้รับพลังงานและสารอาหารที่มีคุณภาพในปริมาณที่พอเหมาะ

หลักการจัดอาหารสำหรับผู้สูงอายุนั้นต้องคำนึงถึงหลายปัจจัยเช่น ความต้องการสารอาหารในผู้สูงอายุ อาหารที่ผู้สูงอายุควรหลีกเลี่ยง สภาพร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไปเช่น จำนวนฟันที่ใช้ในการบดเคี้ยวอาหารที่เหลือน้อยลง ระบบการย่อยและการดูดซึมสารอาหารก็ทำงานได้น้อยลงอีกทั้งการทำงานของระบบประสาทต่างๆ ก็ไม่เหมือนเดิมแล้ว ในขณะที่ร่างกายยังคงต้องการสารอาหารและพลังงานแต่ร่างกายไม่พร้อมจึงทำให้เกิดปัญหาโภชนาการของผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุบางคนกินอาหารไม่ค่อยได้เพราะเคี้ยวอาหารลำบาก บางคนจิตใจหดหู่ทำให้กินอาหารไม่ได้ ไม่ว่าจะอย่างไรอาหารยังเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้สูงอายุที่ต้องการมีสุขภาพที่ดี

ความต้องการสารอาหารในผู้สูงอายุ ไม่ได้แตกต่างจากคนวัยหนุ่มสาวมากนัก ผู้สูงอายุจึงจำเป็นต้องกินอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่เหมือนคนทั่วไปแต่จะแตกต่างในเรื่องของปริมาณอาหารที่ไม่ต้องกินมากแต่ต้องกินเพื่ออยู่และคุณภาพของอาหารที่จำเป็นต้องมีคุณค่าจากสารอาหารในระดับที่ดี อาหารแต่ละหมู่ที่ผู้สูงอายุต้องพยายามบังคับตัวเองกินให้ครบถ้วนเช่น อาหารประเภทโปรตีน ไข่ นมและถั่วเมล็ดแห้ง ผู้สูงอายุต้องกินอาหารประเภทนี้เพื่อซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย โปรตีนจากสัตว์ที่เหมาะกับผู้สูงอายุควรเป็นอาหารประเภทเนื้อปลาเพราะย่อยง่ายกว่าเนื้อหมูและไม่มีไขมัน ปริมาณที่ควรกินต่อวันคือ 4-5 ช้อนโต๊ะ ส่วนโปรตีนจากไข่ควรกินเป็นไข่ต้มสุกไม่ควรเกิน 3-4 ฟอง/สัปดาห์แต่หากเป็นผู้สูงอายุที่มีปัญหาเรื่องไขมันในเส้นเลือดก็ให้เลือกกินเฉพาะไข่ขาว อาหารประเภทนมสด ผู้สูงอายุควรกินเป็นนมพร่องมันเนยวันละ 1 แก้ว(240 มิลลิลิตร) ส่วนอาหารประเภทถั่วเมล็ดแห้งควรกินให้ได้เป็นประจำเพราะมีโปรตีนสูงและสามารถใช้แทนโปรตีนจากเนื้อสัตว์ได้

อาหารประเภทคาร์โบไฮเดรท ได้แก่ ข้าว แป้ง น้ำตาล ซึ่งเป็นอาหารประเภทที่ให้พลังงาน ผู้สูงอายุควรเลือกกินข้าวกล้องแทนข้าวที่ผ่านการขัดสีจนขาวแต่ก็ควรกินในปริมาณที่พอเหมาะเท่านั้นไม่ควรกินมากเกินไป ปริมาณที่เหมาะสมต่อวันคือ 6-8 ทัพพี อาหารประเภทผักต่างๆ เป็นอาหารที่มีแร่ธาตุและวิตามินที่ผู้สูงอายุควรกินให้ได้เป็นประจำและกินให้หลากหลาย ผักที่กินควรเป็นผักต้มหรือนึ่งจนสุก ปริมาณที่ควรกินต่อวันคือ 2 ทัพพี ส่วนผลไม้สำหรับผู้สูงอายุควรเลือกกินผลไม้ที่มีเส้นใยสูงจะช่วยในเรื่องการย่อยอาหารและระบบขับถ่าย หลีกเลี่ยงผลไม้ที่มีรสหวานจัดเช่น ลำไย ทุเรียน ควรเลือกผลไม้ที่นุ่ม เคี้ยวง่ายเช่น กล้วยสุก ส้ม มะละกอ เป็นต้น

การปรุงอาหารสำหรับผู้สูงอายุ ควรใช้น้ำมันพืชเช่น น้ำมันรำข้าว น้ำมันถั่วเหลือง โดยหลีกเลี่ยงการใช้น้ำมันปรุงอาหารที่เป็นน้ำมันจากสัตว์และน้ำมันพืชบางชนิดเช่น น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม และสิ่งที่ขาดไม่ได้คือการพยายามดื่มน้ำสะอาดให้ได้วันละ 6-8 แก้วโดยพยายามลดหรืองดการดื่มชา กาแฟ น้ำอัดลม การปฏิบัติตัวในการส่งเสริมสุขภาพของผู้สูงอายุนอกจากเรื่องการกินอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่แล้วผู้สูงอายุควรดูแลสุขภาพด้วยการออกกำลังกายที่เหมาะกับสภาพร่างกายอย่างสม่ำเสมอ พยายามอยู่ในที่ที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก ดูแลสุขภาพในช่องปากอยู่เสมอ ฝึกการขับถ่ายอย่าปล่อยให้มีอาการท้องผูก มองโลกในแง่ดีและพยายามพบปะสังสรรค์กับเพื่อนบ้านบ้าง

2 Replies to “โภชนาการสำหรับผู้สูงอายุ”

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *